top of page

นอกจากมรดก.... มีอะไรอีกที่ควรวางแผนส่งต่อ?


ในการวางแผนส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งนอกจากการวางแผนมรดก (Estate Planning) แล้ว ยังควรวางแผนจัดการทรัพย์สินที่นอกเหนือจากทรัพย์มรดก ซึ่งมีทั้งเงินเพื่อการเกษียณจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งเงินอื่นที่ภาครัฐมอบให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต บางรายการกฎหมายก็เปิดโอกาสให้ระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินเหล่านั้น หากไม่ระบุก็จะกำหนดบุคคลที่มีสิทธิได้รับไว้แน่นอน จำแนกได้ตามอาชีพของบุคคล จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามได้เลยครับ...


กรณีข้าราชการ หากข้าราชการเสียชีวิตไม่ว่าในขณะรับราชการหรือขณะรับบำนาญ ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินดังนี้

  • เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อสมาชิก กบข. เสียชีวิตขณะรับราชการ เฉพาะเงินสะสม เงินสะสมส่วนเพิ่ม (ถ้ามี) และเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน จะถือเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งสามารถกำหนดผู้มีสิทธิได้รับในพินัยกรรมได้ หากไม่มีพินัยกรรมระบุไว้ก็จะตกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับต่อไป

  • บำเหน็จตกทอด ในอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณเวลาราชการ (กรณีเสียชีวิตขณะรับราชการ) หรือ 30 เท่าของบำนาญ (กรณีเสียชีวิตขณะรับบำนาญ) และไม่น้อยกว่า 3,000 บาท โดยหักบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปแล้วและ/หรือบำเหน็จค้ำประกันที่ถูกบังคับเอา จะจ่ายให้แก่บุตร 2 ส่วน (หากมีบุตร 3 คนขึ้นไปจะได้รับ 3 ส่วน) คู่สมรส 1 ส่วน และบิดามารดา 1 ส่วน หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ จะจ่ายให้แก่บุคคลตามที่ได้แสดงเจตนาไว้ (ควรระบุไว้เพื่อประโยชน์ในการขอใช้สิทธิบำเหน็จค้ำประกัน)

  • เงินช่วยพิเศษ ในอัตรา 3 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายหรือบำนาญ จ่ายให้แก่บุคคลตามที่ได้แสดงเจตนาไว้ หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่บุคคลต่อไปนี้ตามลำดับ คือ (1) คู่สมรส (2) บุตร และ (3) บิดามารดา


กรณีลูกจ้างเอกชน เมื่อลูกจ้างเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินดังนี้

  • เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เมื่อลูกจ้างเสียชีวิตในขณะเป็นสมาชิก PVD เงินจากกองทุนจะตกแก่บุคคลผู้จะพึงได้รับตามที่กำหนดโดยพินัยกรรมหรือหนังสือที่มอบแก่ผู้จัดการกองทุน หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่บุตร 2 ส่วน (หากมีบุตร 3 คนขึ้นไปจะได้รับ 3 ส่วน) คู่สมรส 1 ส่วน และบิดามารดา 1 ส่วน หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ เงินดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุน แต่หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานแล้วยังคงเงินไว้ใน PVD หรือขอรับเงินเป็นงวด ถือว่าเงินดังกล่าวกลายเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกจ้างแล้ว จึงเป็นทรัพย์มรดกที่สามารถระบุผู้มีสิทธิได้รับในพินัยกรรมได้

  • ประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตจากกองทุนประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 เสียชีวิตโดยไม่เนื่องจากการทำงาน และได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต ประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับมีดังนี้

  1. เงินค่าทำศพ ในอัตรา 50,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ

  2. เงินสงเคราะห์ ในอัตราค่าจ้าง 2 เดือน (หากส่งเงินสมทบ 36-119 เดือน) หรือ 6 เดือน (หากส่งเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป) จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามที่ระบุในหนังสือ หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่คู่สมรส บิดามารดา และบุตรในจำนวนเท่า ๆ กัน

  • เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 เสียชีวิตก่อนได้รับเงินบำเหน็จ/บำนาญชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพจะจ่ายให้แก่บุตร 2 ส่วน (หากมีบุตร 3 คนขึ้นไปจะได้รับ 3 ส่วน) คู่สมรส 1 ส่วน บิดามารดา 1 ส่วน และบุคคลผู้มีสิทธิตามที่ระบุในหนังสือ อีก 1 ส่วน รวมถึงกรณีที่ผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพ[1] ก็จะจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านี้ในสัดส่วนเดียวกัน หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ สิทธิดังกล่าวก็จะตกแก่บุคคลต่อไปนี้ตามลำดับ คือ (1) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (2) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา (3) ปู่ ย่า ตา ยาย และ (4) ลุง ป้า น้า อา


กรณีผู้ประกอบอาชีพอิสระ เมื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินดังนี้

  • ประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตจากกองทุนประกันสังคม (มาตรา 40) เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เสียชีวิต และได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเสียชีวิต (สำหรับกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต) ประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับมีดังนี้

  1. เงินค่าทำศพ ในอัตรา 25,000 บาท (สำหรับทางเลือกที่ 1-2) หรือ 50,000 บาท (สำหรับทางเลือกที่ 3) จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ

  2. เงินสงเคราะห์ เฉพาะทางเลือกที่ 1-2 หากส่งเงินสมทบอย่างน้อย 60 เดือนก่อนเสียชีวิต ในอัตรา 8,000 บาท จ่ายให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิตามที่ระบุในหนังสือ หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่คู่สมรส บิดามารดา และบุตรในจำนวนเท่า ๆ กัน

  • เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม (มาตรา 40) เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 2-3 เสียชีวิตก่อนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ คู่สมรส บิดามารดา บุตร และบุคคลผู้มีสิทธิตามที่ระบุในหนังสือ จะได้รับส่วนแบ่งเงินบำเหน็จชราภาพในจำนวนเท่า ๆ กัน หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ สิทธิดังกล่าวก็จะตกแก่บุคคลต่อไปนี้ตามลำดับ คือ (1) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (2) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา (3) ปู่ ย่า ตา ยาย และ (4) ลุง ป้า น้า อา

  • เงินกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เมื่อสมาชิก กอช. เสียชีวิตไม่ว่าก่อนหรือในขณะรับเงินบำนาญ/เงินดำรงชีพ ทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ (ในส่วนที่คงเหลือจากการจ่ายเงินบำนาญหรือเงินดำรงชีพ) จะตกแก่บุคคลตามที่ได้แสดงเจตนาไว้ หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่บุตร 2 ส่วน (หากมีบุตร 3 คนขึ้นไปจะได้รับ 3 ส่วน) คู่สมรส 1 ส่วน และบิดามารดา 1 ส่วน หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ เงินทั้งหมดจะตกเป็นของ กอช. ต่อไป


จะเห็นได้ว่า การกำหนดบุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินเหล่านี้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะทำให้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปสู่บุคคลตามความต้องการของเรา ซึ่งการดำเนินการนั้นก็สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กบข. กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ท่านเป็นสมาชิก สำนักงานประกันสังคม หรือ กอช. ได้เลยครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มาตรา 36, 49 พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มาตรา 58-60, 64-65, 65/1 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23, 23/2, 23/3 พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 48-49, 49/1, 50 พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 จัตวา พ.ร.ฎ. การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 มาตรา 23-24, 42 พ.ร.ฎ. กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 มาตรา 14, 17, 21 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 ข้อ 7 (3), 8 กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินค่าทำศพในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2563



[1] ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2565 มีการเพิ่มอัตราเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตจนครบ 60 เดือน

1,111 views0 comments

Comments


bottom of page