top of page

ทำอาชีพอิสระ ก็มีคู่หูคู่ใจได้เหมือนกันนะ...

Updated: May 9, 2022


หากใครติดตามบทความของ Siam Wealth Management มาโดยตลอด คงจะจำได้ว่า เมื่อวันอาสาฬหบูชาปีที่แล้ว (วันที่ 5 กรกฎาคม 2563) เราได้นำเสนอเกี่ยวกับคู่หูคู่ใจลูกจ้างภาคเอกชนยามเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย อย่างกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน [อ่านที่นี่] แต่สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของภาคแรงงานในปัจจุบัน ก็มีคู่หูคู่ใจเช่นเดียวกัน นั่นคือ ระบบประกันสังคมมาตรา 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ดังนั้น ในวันอาสาฬหบูชาปีนี้ เรามาเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักสิทธิประโยชน์จากการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งผู้ที่มีอายุ 15-65 ปี และมิได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 (รวมถึงข้าราชการบำนาญหรือผู้ที่รับเงินบำนาญชราภาพไปแล้ว แต่อายุยังไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถสมัครได้เช่นเดียวกัน) มีทางเลือกในการส่งเงินสมทบ 3 ทางเลือกด้วยกัน[1] โดยแต่ละทางเลือกก็จะให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ มากน้อยต่างกัน ดังตารางต่อไปนี้ครับ...

จากตารางจะเห็นว่า ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนมีหน้าที่ส่งเงินสมทบสูงที่สุด รองลงมาคือทางเลือกที่ 2 และ 1 ตามลำดับ โดยสามารถเปลี่ยนทางเลือกได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งผมต้องขอเตือนว่า การส่งเงินสมทบแต่ละครั้งสามารถสมทบสำหรับเดือนปัจจุบัน และล่วงหน้าไม่เกิน 12 เดือนเท่านั้น ไม่สามารถสมทบย้อนหลังได้ ต่อจากนี้ไปมาดูกันว่า ประโยชน์ทดแทนที่ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระในยามเกิด ยามแก่ ยามเจ็บไข้ และยามตาย เป็นอย่างไรกันบ้างครับ...


ยามเกิด

ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เลือกทางเลือกที่ 3 และมีบุตรอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรในอัตรา 200 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน คราวละไม่เกิน 2 คน โดยต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 24 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิ และต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนในขณะรับประโยชน์ทดแทนด้วย


ยามแก่

เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เลือกทางเลือกที่ 2-3 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบ 50 บาท (สำหรับทางเลือกที่ 2) หรือ 150 บาท (สำหรับทางเลือกที่ 3) รวมกับเงินสมทบเพิ่มเติม (ถ้ามี) ตามระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถส่งเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และเฉพาะทางเลือกที่ 3 จะมีเงินเพิ่มเติมให้อีก 10,000 บาท หากส่งเงินสมทบมาครบ 180 เดือนอีกด้วย

สำหรับทางเลือกที่ 1 แม้จะไม่ได้ให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ แต่ผู้ที่เลือกทางเลือกนี้และยังมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ โดยสามารถส่งเงินสะสมครั้งละไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท (ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันในแต่ละครั้ง) และทุกครั้งที่ส่งเงินสะสม จะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลในอัตราดังนี้

  • อายุไม่เกิน 30 ปี สมทบ 50% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 600 บาท

  • อายุเกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี สมทบ 80% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 960 บาท

  • อายุเกิน 50 ปี สมทบ 100% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 1,200 บาท

หากเป็นสมาชิก กอช. จนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ผลประโยชน์จะได้รับการประกันไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เฉลี่ยของ 7 ธนาคารใหญ่ และเมื่ออายุครบ 60 ปี หากเงินในบัญชีนำมาคำนวณบำนาญได้ไม่น้อยกว่า 600 บาท จะได้รับบำนาญตลอดชีวิต หากน้อยกว่านั้น จะได้รับเป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 บาท ไปจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด (ลองดูตารางด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างจำนวนบำนาญ/เงินดำรงชีพที่จะได้รับก็ได้ครับ)

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และผู้รับบำนาญของ กอช. จะยังคงมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนา เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป


ยามเจ็บไข้

เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และได้ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 3 เดือน ภายใน 4 เดือนก่อนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุกทางเลือกจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ทั้งกรณีเป็นผู้ป่วยนอกซึ่งแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป และกรณีเป็นผู้ป่วยใน นอกจากนี้ เฉพาะทางเลือกที่ 1-2 ยังมีเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีที่แพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วันอีกด้วย (ต้องมีใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน) ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาล สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับกรณีที่ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เดือนละ 500-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบ โดยทางเลือกที่ 1-2 จะจ่ายให้เป็นเวลา 15 ปี ส่วนทางเลือกที่ 3 จะจ่ายให้ตลอดชีวิต


ยามตาย

เมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เสียชีวิต โดยส่งเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเสียชีวิต (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต) ทุกทางเลือกจะมีเงินค่าทำศพที่จ่ายให้แก่บุคคลผู้จัดการศพ และเฉพาะทางเลือกที่ 1-2 หากส่งเงินสมทบครบ 60 เดือน ยังมีเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้แก่ผู้ที่ผู้ประกันตนแสดงเจตนาไว้ หากไม่มีก็จะจ่ายให้แก่บุตร คู่สมรส และบิดามารดาในจำนวนเท่า ๆ กัน


จะเห็นได้ว่า ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก เป็นโอกาสของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่จะได้รับการ “เฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข” จากกองทุนประกันสังคมในกรณีต่าง ๆ ดังนั้น หากยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกทางเลือกใด หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษา “เครือข่ายประกันสังคม” ประจำสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาใกล้บ้าน ได้อีกช่องทางหนึ่ง ส่วน กอช. ก็เป็นแหล่งเงินออมสำหรับยามสูงวัย โดยนอกจากสมาชิกจะส่งเงินสะสมแล้ว รัฐบาลยังช่วยสมทบให้ด้วยเป็นรางวัลสำหรับผู้มีวินัยในการออม ซึ่งสามารถสมัครควบคู่กับการสมัครประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 ได้อีกด้วยนะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มาตรา 30-32, 34-35, 44

พ.ร.ฎ. กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561

พ.ร.ฎ. กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561

กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2564[2]

กฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. 2558

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินบำนาญ และจำนวนเงินบำนาญขั้นต่ำ พ.ศ. 2558

รายการ “สถานีประกันสังคม” วันที่ 5 มิถุนายน 2563 และวันที่ 16 ตุลาคม 2563 สัมภาษณ์คุณปริยา นันทชมชื่น นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ, วันที่ 26 มิถุนายน 2563 สัมภาษณ์คุณนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรม และโฆษกสำนักงานประกันสังคม) ทาง Facebook “สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน”


#ประกันสังคม #มาตรา40 #ม40 #กองทุนการออมแห่งชาติ #กอช #SiamWealthManagement #VinayaChy


[1] ต่อมามีการขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบสำหรับทางเลือกที่ 1-3 เป็น 42 บาท 60 บาท และ 90 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2565

[2] ปัจจุบันใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2565 ซึ่งขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบส่วนของรัฐบาลสำหรับทางเลือกที่ 1-3 เป็น 21 บาท 30 บาท และ 90 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2565

124 views0 comments
bottom of page