top of page

เพิ่มบำเหน็จดำรงชีพ... ข้าราชการต้องคิดอะไรบ้าง?

Writer: Vinaya ChysirichoteVinaya Chysirichote

Updated: Nov 29, 2021


ช่วงปลายเดือนกันยายนแบบนี้ก็ได้เวลาเกษียณอายุของข้าราชการหลายต่อหลายคน พูดถึงข้าราชการเกษียณก็ต้องพูดถึงเรื่องที่เป็นกระแสข่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สำหรับการเพิ่มวงเงินบำเหน็จดำรงชีพอีกไม่เกิน 100,000 บาท พี่น้องข้าราชการอาจจะดีใจที่จะได้มีเงินใช้หลังเกษียณเพิ่มขึ้น แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงด้วย ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันว่าบำเหน็จดำรงชีพคืออะไร และจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญอย่างไรดีกว่าครับ...


ทบทวนข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับบำเหน็จดำรงชีพ

บำเหน็จดำรงชีพ เป็นมาตรการของรัฐบาลที่เริ่มขึ้นในปี 2546 เพื่อช่วยเหลือผู้รับบำนาญให้สามารถดำรงชีพอย่างเหมาะสมและพอเพียงกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเป็นอันมาก บำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับนี้จะนำไปหักออกจากบำเหน็จตกทอดที่ทายาทหรือบุคคลที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้มีสิทธิได้รับเมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิต (คิดเป็น 30 เท่าของบำนาญรายเดือน) และหักสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่อาจนำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน (หรือที่เรียกกันว่า บำเหน็จค้ำประกัน) ก่อนจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญ โดยบำเหน็จดำรงชีพยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับบำเหน็จตกทอดอีกด้วย

บำเหน็จดำรงชีพจะจ่ายในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือน ซึ่งล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ได้มีการขยายเพดานของบำเหน็จดำรงชีพจาก 400,000 บาท มาอยู่ที่ 500,000 บาท โดยแบ่งจ่ายตามช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 65 ปี ได้รับไม่เกิน 200,000 บาท

  • อายุตั้งแต่ 65 ปี แต่ไม่ถึง 70 ปี ได้รับอีกไม่เกิน 200,000 บาท

  • อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ได้รับอีกไม่เกิน 100,000 บาท

(โดย 2 ส่วนแรกจะขอรับหลังช่วงอายุดังกล่าวก็ได้)


ได้ทบทวนลักษณะของบำเหน็จดำรงชีพแล้ว คราวนี้มาดูกันว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่พี่น้องข้าราชการต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับบำเหน็จดำรงชีพที่ (อาจ) ได้รับเพิ่มขึ้นครับ...


เงินเฟ้อ... ตัวกัดกร่อนมูลค่าของเงิน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า บำเหน็จดำรงชีพที่อาจได้รับเพิ่มขึ้นสูงสุด 100,000 บาทนี้ จะได้รับเมื่อมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ไม่ใช่ ณ วันที่เกษียณ พูดถึงเงินกับเวลาที่ผ่านไปแบบนี้ก็ต้องพูดถึง “เงินเฟ้อ” ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ลดลง ทั้ง ๆ ที่เป็นเงินจำนวนเท่าเดิม ตัวอย่างจากมาตรการล่าสุดนี้ ถ้าหากคำนวณด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% เงินบำเหน็จดำรงชีพที่จะได้รับเป็นครั้งที่ 3 เมื่ออายุครบ 70 ปี (หากอัตราบำนาญรายเดือนถึงเกณฑ์) เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของเงิน ณ วันที่เกษียณอายุ 60 ปี จะพบว่ามูลค่าของเงินลดลงกว่า 1 ใน 4 เลยทีเดียว ดังนั้นใครที่คิดจะซื้อของเพื่อเติมความสุขให้ตนเองในวันนั้น อย่าลืมเผื่อเงินเฟ้อในอนาคตด้วยนะครับ


จัดสรรเงินหลังเกษียณ... มั่นคงคู่ผลตอบแทน

แม้ผู้มีสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำเหน็จดำรงชีพตามช่วงอายุ 60, 65 และ 70 ปี และแม้ผู้รับบำนาญจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่เรายังต้องดำรงชีวิตหลังจากนั้นอีก 20-30 ปี หรืออาจถึง 40 ปีด้วยซ้ำ หากวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้น เราควรจัดสรรเงินที่มีเพื่อใช้หลังเกษียณให้ตรงตามวัตถุประสงค์ นั่นคือ เงินที่ต้องการใช้จ่ายประจำก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน สำหรับเงินในส่วนอื่นอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก กบข. เองก็มีทางเลือกเมื่อเกษียณอายุ ในการให้ กบข. ช่วยบริหารเงินต่อ หรือทยอยรับเงินเป็นงวด (ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้) หากมีเงินในบัญชีรายบุคคลส่วนที่ขอให้บริหารต่อหรือขอทยอยรับเป็นงวดไม่ต่ำกว่า 35,000 บาท โดยการทยอยรับจะต้องรับเป็นงวด รายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปีก็ได้ แต่ละงวดต้องไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ทั้งนี้ สามารถเปลี่ยนทางเลือกได้ปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนได้ เงินส่วนที่บริหารต่อจะอยู่ในแผนการลงทุนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ


จะแบ่งเงินให้ครอบครัววันนั้นเลยดีไหม?

คงจะคาดเดาได้ใช่ไหมครับว่าถ้าคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกหลานทราบว่าข้าราชการเกษียณอย่างเรามีเงินมากมายขนาดนี้ ก็ต้องมีบางคนมาขอแบ่งเงินจากเราบ้าง แต่จะตัดสินใจอย่างไรดีระหว่างแบ่งเงินให้ขณะที่เรามีชีวิตอยู่เลย หรือจะให้เป็นกองมรดกในวันที่เราจากไปแล้ว ถ้าจำนวนเงินที่จะแบ่งให้ครอบครัวไม่ทำให้เราเดือดร้อนหรือกระทบต่อแผนการใช้เงินหลังเกษียณ ก็อาจจะแบ่งให้ได้เลย ส่วนสมาชิก กบข. ที่ใช้บริการออมต่อ ก็ต้องคำนึงด้วยว่าหากไม่เปลี่ยนใจนำเงินออกจาก กบข. ในภายหลัง เมื่อเสียชีวิต เงินสะสม (รวมทั้งเงินสะสมส่วนเพิ่ม ถ้ามี) เงินสมทบ เงินชดเชย และเงินประเดิม (ถ้ามี) ในส่วนที่ กบข. ช่วยบริหารต่อ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทน จะจ่ายให้แก่ผู้จัดการมรดก เพื่อนำมาแบ่งให้แก่ทายาทต่อไป ดังนั้นเราจึงควรทำพินัยกรรมโดยระบุทายาทผู้รับเงินในส่วนนี้ให้ตรงตามความประสงค์ของเรา

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิต ทางราชการยังมีการจ่ายเงินช่วยพิเศษเท่ากับ 3 เท่าของบำนาญรายเดือนอีกด้วย จึงควรระบุผู้รับเงินช่วยเหลือพิเศษในหนังสือแสดงเจตนาให้ชัดเจน มิฉะนั้นเงินส่วนนี้จะจ่ายให้แก่บุคคลตามลำดับต่อไปนี้ คือ (1) คู่สมรส (2) บุตร (คนใดคนหนึ่ง) (3) บิดามารดา และ (4) บุคคลผู้จัดการศพ


ปิดท้ายเรื่องนี้ ก็ต้องกล่าวคำว่าขอแสดงความยินดีอีกครั้งสำหรับข้าราชการที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพเพิ่มขึ้น แต่การที่ทุกท่านจะมีความสุขเพิ่มขึ้นได้ ต้องวางแผนการใช้จ่ายและลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเกษียณ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วยนะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 47/1, 47/2, 49

พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มาตรา 57/1, 57/2, 60, 65, 67/1

พ.ร.ฎ. การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 มาตรา 24, 42

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (64)

กฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2562 (รวม 2 ฉบับ)

ประกาศคณะกรรมการ กบข. เรื่อง หลักเกณฑ์การขอรับและการตรวจสอบสิทธิในการได้รับเงินจากกองทุนฯ ข้อ 7, 17, 18

ประกาศคณะกรรมการ กบข. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีแผนการลงทุน การเลือกแผนการลงทุน การให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกแผนการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน พ.ศ. 2560 ข้อ 11[1]


[1] ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีการกำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ กบข. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีแผนการลงทุน การเลือกแผนการลงทุน การให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกแผนการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน พ.ศ. 2564 ข้อ 12

 
 
 

Comments


bottom of page