ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของ โควิด – 19 สายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นผลให้เกิดเหตุการณ์ที่หลายครอบครัวไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว แต่เมื่อเหตุได้เกิดขึ้นแล้ว การบริหารจัดการทรัพย์สินหรือทรัพย์มรดกจึงเป็นสิ่งที่เหลียกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราจึงควรรู้ว่าเมื่อเหตุได้เกิดขึ้นแล้ว เราควรที่จะต้องทำอะไรต่อ เพื่อจัดการกับทรัพย์สินที่ยังเหลืออยู่
สิ่งสำคัญที่ทุกคนพึงทราบในจัดการมรดกของคนในครอบครัวที่เสียชีวิตแล้วนั้น การดำเนินธุรกรรมแทนผู้ตายไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนทรัพย์สิน หรือ การชำระหนี้ จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น ผู้จัดการมรดก จึงจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ แทนผู้ตายได้ แต่ก็จะมีธุรกรรมเฉพาะบางประเภท ที่คู่สมรส ทายาท หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางสายเลือด สามารถทำได้เลย เช่น การเรียกร้องสินไหมจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้นในขั้นตอนแรกสุดของการบริหารจัดการทรัพย์มรดก ในกรณีที่ไม่ได้วางแผนส่งมอบเอาไว้ก่อน จึงควรเริ่มจากการทำบัญชีรายการทรัพย์สินเท่าที่สามารถทำได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการกองมรดกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินจากกองมรดกถูกจำหน่ายออกไปก่อนหรือระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย หรือหากมีการจำหน่ายออกไปจากกองมรดกโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะสามารถติดตามและจัดสรรได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงร้องต่อศาล เพื่อขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกและจัดทำบัญชีทรัพย์สินโดยละเอียด พร้อมทั้งวิธีการจัดสรรและจัดการกองมรดกยื่นต่อศาล
การจัดสรรทรัพย์สินตามพินัยกรรมและมรดกนั้น กรณีที่หากผู้ตายมีการทำพินัยกรรมไว้ ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่เป็นผู้แทนในการดำเนินการตามที่พินัยกรรมระบุไว้ และสำหรับส่วนนอกเหนือจากพินัยกรรม ให้นำมารวมเข้ากองมรดกและปฏิบัติเหมือนกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้
ส่วนกรณีที่ผู้ตายไม่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินส่วนที่ไม่ได้อยู่ในพินัจกรรม ก็จะตกเป็นทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่นำทรัพย์มรดกที่มีชำระคืนแก่เจ้าหนี้ก่อนที่จะจัดแบ่งให้กับทายาท โดยแบ่งตามหลักลำดับชั้นทายาทโดยธรรม
ลำดับขั้นทายาทโดยธรรม เป็นการลำดับถึงสิทธิของผู้รับมรดก โดยแบ่งออกเป็น 6 ลำดับชั้นตามความใกล้ชิดผู้ตายดังนี้
1. ผู้สืบสันดาน
2. บิดามารดา
3. พี่น้องร่วมบิดาและมารดา
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา
5. ปู่ ย่า ตา และยาย
6. ลุง ป้า น้าและอา
วิธีการแบ่งมรดกตามหลักทายาทโดยธรรมนั้น จะให้สิทธิลำดับที่ใกล้ชิดผู้ตายก่อน หากในลำดับชั้นนั้นไม่มีทายาทโดยธรรมที่มีชีวิตอยู่ จึงพิจารณาทายาทโดยธรรมลำดับชั้นถัดไป ยกเว้นกรณีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และ 2 มีชีวิตอยู่จะได้รับสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกัน โดยการแบ่งเท่ากัน
นอกจากนี้ คู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายยังนับเป็นทายาทโดยธรรมประเภทพิเศษ ซึ่งมีสิทธิรับมรดกในทุกลำดับชั้น ตามสัดส่วนทีกำหนดไว้ในกฎหมายเป็นกรณีไป
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในระหว่างการดำเนินการขอจัดตั้งผู้จัดการมรดก ทำบัญชีทรัพย์สิน และการบริหารแจกจ่ายทรัพย์มรดก อาจจะเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นได้ ทั้งในรูปของค่าธรรมเนียม และภาษีการรับมรดก ซึ่งหากผู้รับมรดกไม่มีทรัพย์สินเพียงพอสำหรับชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อาจทำให้การส่งต่อทรัพย์สินจากกองมรดกนั้นไม่ราบรื่น ซึ่งการดำเนินการเรียกร้องสินไหมจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะทำให้ได้รับเงินก้อนจำนวนหนึ่ง มอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์โดยไม่ผ่านกองมรดก ซึ่งอาจจะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับมรดกได้
กรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ตายมีกรมธรรม์ประกันชีวิตกี่ฉบับ และบริษัทใดบ้างนั้น ทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ สามารถติดต่อ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ) โดยการติดต่อและส่งเอกสารระบุความสัมพันธ์และสถานะการเสียชีวิตของผู้ตาย เพื่อสอบถามเลขที่กรมธรรม์และบริษัทประกันที่ผู้ตายมีสัญญาอยู่
รายละเอียดเพิ่มเติม : มรดกและคู่สมรส
กรณีคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายยังคงมีชีวิตอยู่ จำเป็นต้องมีการแยกสินส่วนตัวและสินสมรสก่อนจัดตั้งกองมรดก โดยที่กรณีไม่มีการทำสัญญาใด ๆ ไว้ ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังสมรสจะนับเป็นสินสมรสและคู่สมรสมีสิทธิในสินสมรส คนละครึ่ง
นอกจากนี้คู่สมรสที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะถือเป็นทายาทโดยธรรมพิเศษและมีสิทธิร่วมกับทายาทโดยธรรมในทุกลำดับชั้น โดยมีวิธีการแบ่งสัดส่วนร่วมกับทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้นดังนี้
1. เสมือนเป็นบุตรคนหนึ่งของผู้ตาย เช่น ผู้ตายมีลูกสอง ทรัพย์มรดกจะถูกแบ่งออกสามส่วน และคู่สมรสได้หนึ่งในสามนั้น
2. กรณีที่บิดาและ/หรือมารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ จะนับบิดาและ/หรือมารดา รวมกับบุตรและคู่สมรส แล้วจึงแบ่งส่วนกองมรดกในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
3. กรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตร คู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับทรัพย์มรดกครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งจึงแบ่งเท่ากันให้แก่บิดาและมารดาของผู้ตาย
4. การแบ่งมรดกร่วมกับพี่น้องร่วมบิดาและมารดาของผู้ตาย คู่สมรสจะได้รับครึ่งหนึ่งของกองมรดกก่อนที่จะนำอีกครึ่งแบ่งให้พี่น้องเท่า ๆ กัน
5. การแบ่งมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมในลำดับชั้นที่ 4 – 6 นั้นคู่สมรสจะได้รับสองในสามของกองมรดกก่อนที่จะนำส่วนที่เหลือแบ่งให้ทายาทโดยธรรมลำดับชั้นนั้น ๆ
การจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นผลดีร่วมกันต่อคู่สมรสในกรณีคนหนึ่งคนใดเสียชีวิตไปก่อนนั่นเอง
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 - 1631
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1633
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635
ความคิดเห็น