top of page

10 ข่าวเด่นปีหมูทอง ของวงการวางแผนการเงิน

Updated: Sep 5, 2021


อีกไม่กี่ชั่วโมง ปี พ.ศ. 2562 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วนะครับ ช่วงใกล้ปีใหม่แบบนี้ ตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ก็มักจะจัดทำสรุป 10 ข่าวเด่นในรอบปีกัน สำหรับวงการวางแผนการเงินนั้น ปี 2562 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะมาตรการจากภาครัฐ มาติดตามกันครับว่า 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2562 มีข่าวอะไรบ้าง...


ข่าวที่ 1 ภาษีที่ดินฯ อลเวงข้ามปี

ถือว่าเป็น “Talk of the Town” แห่งปีเลยก็ว่าได้ สำหรับพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดเก็บเช่นเดิม และจะเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 ซึ่งถูกเลื่อนจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม เนื่องจากการออกกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องเกิดความล่าช้า นอกจากนี้ยังเกิดความสับสนในหลายกรณี เช่น เจ้าของสิ่งปลูกสร้างไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือให้ผู้อื่นเช่า ทำให้ผู้ที่ได้รับใบแจ้งข้อมูลรายการห้องชุด (ในกรุงเทพฯ) ต้องพากันไปขอแก้ไขข้อมูลที่สำนักงานเขตเป็นจำนวนมาก (ล่าสุดกำหนดให้เป็นประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ประเภทเพื่อการพาณิชย์หรือประเภทอื่น ๆ)

ข่าวที่ 2 อวสาน (สิทธิลดหย่อน) LTF ต้อนรับน้องใหม่ SSF

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (Super Savings Fund: SSF) เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2567 ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีภาษี รวมทั้งขยายวงเงินซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) มาเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน และรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ไม่เกิน 500,000 บาท[1] ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term Equity Fund: LTF) จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นี้เป็นปีสุดท้าย แต่หลังจากนี้ยังคงสามารถซื้อ LTF ได้ต่อไป


ข่าวที่ 3 เงินเข้าบัญชีถี่-เยอะเตรียมตัว! รายงานธุรกรรมแน่

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) มีการบัญญัติเพิ่มมาตรา 3 สัตตรส ที่กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปในปีภาษี หรือตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป โดยมียอดรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไปในปีภาษี ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลไว้ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับข้อมูล อย่างไรก็ตาม การรายงานครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563[2] จะรายงานเฉพาะข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24-31 ธันวาคม 2562 เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว


ข่าวที่ 4 แห่โอนบ้าน-คอนโดหนีเกณฑ์ LTV

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย[3] ที่ สนส. 24/2561 และที่ สกส. 9/2562 ซึ่งเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 เมษายน 2562 มีการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value Ratio: LTV) สำหรับการผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอันเกิดจากการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ที่เกินพอดี โดยจะต้องวางดาวน์อย่างน้อย 10% สำหรับหลังที่ 2 ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนหลังแรกมาแล้ว 3 ปีขึ้นไป หรือ 20% หากผ่อนหลังแรกยังไม่ครบ 3 ปี หรือเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 1-2 ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาท และ 30% สำหรับหลังที่ 3 เป็นต้นไป ต่อมาจึงมีการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าว โดยไม่นับการกู้ของผู้กู้ร่วมที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหลังนั้น


ข่าวที่ 5 #ของมันต้องมี VS Gen Y

หลายฝ่ายแสดงความกังวลมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับปัญหาภาระหนี้ของคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Y ซึ่งล่าสุด TMB Analytics ได้รายงานผลการศึกษาพฤติกรรมการเงินของคน Gen Y พบว่าความฝันก่อนอายุ 40 ปี เกือบครึ่งหนึ่งคือบ้าน รองลงมาคือรถยนต์ แต่ยอดใช้จ่ายกับ “ของมันต้องมี” เฉลี่ยสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี (รวมเกือบเท่ากับมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี) ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากลัวตกกระแส และส่วนมากใช้วิธีกู้จากธนาคารหรือบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด อีกด้านที่น่ากังวลก็คือ คน Gen Y โดยเฉลี่ยตั้งใจจะออมเพียงเดือนละ 5,500 บาท ทั้งที่ใฝ่ฝันอยากมีเงินเก็บถึง 6 ล้านบาท แต่ก็ยังน่าดีใจอยู่ที่มีกลุ่มที่มีวินัยทางการเงิน “ของมันต้องมี แต่เก็บเงินได้” เกินครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเล็กน้อย


ข่าวที่ 6 ภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว?

เรื่องนี้เกิดขึ้นจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เมื่อได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีภาษี โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องยินยอมให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร มิฉะนั้นดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่บาทแรก ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติ ต่อมาจึงมีประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 346) มาแทนที่ประกาศฉบับเดิม โดยเปลี่ยนแปลงให้ผู้มีเงินได้แจ้งธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ย เฉพาะกรณีที่ไม่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เพื่อที่ธนาคารจะได้ไม่นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร ประกาศนี้จึงแทบจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อผู้เสียภาษีส่วนใหญ่


ข่าวที่ 7 เก็บภาษีตราสารหนี้จากกองทุนรวม

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากก็คือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) ซึ่งเริ่มใช้บังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่บัญญัติให้กองทุนรวมต้องเสียภาษีจากเงินได้ประเภทดอกเบี้ยในอัตรา 15% เพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมสอดคล้องกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 689) บัญญัติยกเว้นภาษีให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้แก่กองทุนเพื่อการเกษียณต่าง ๆ รวมถึงยกเว้นภาษีให้แก่ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมตราสารหนี้ และยกเว้นภาษีให้แก่นิติบุคคลในการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อีกด้วย


ข่าวที่ 8 ลูกจ้างเฮ! เพิ่มสวัสดิการเพียบ

ปี 2562 ที่ผ่านมานับว่าเป็น “ปีหมูทอง” ของบรรดาพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างเอกชน เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) ที่เพิ่มสวัสดิการขั้นต่ำอีกมาก ทั้งวันลากิจ วันลาคลอดบุตร ฯลฯ รวมถึงเรื่องที่ลูกจ้างตั้งตารอมากที่สุด นั่นคือ การเพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างเมื่อมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป เป็นไม่ต่ำกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ต่อมาก็ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่เพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจในอัตราเดียวกัน รวมถึงเพิ่มเงินตอบแทนความชอบในการทำงานกรณีเกษียณอายุ เมื่อมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป มาอยู่ที่ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันเช่นกัน


ข่าวที่ 9 เพิ่มบำเหน็จดำรงชีพ ของขวัญข้าราชการไทย

นอกจากพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างเอกชนแล้ว คำว่า “ปีหมูทอง” ยังใช้ได้กับบรรดาข้าราชการและผู้รับบำนาญอีกด้วย เมื่อมีการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ รวม 2 ฉบับ (ฉบับหนึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ส่วนอีกฉบับหนึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539) เพื่อเพิ่มเพดานบำเหน็จดำรงชีพซึ่งจ่ายในอัตรา 15 เท่าของบำนาญ เป็นไม่เกิน 500,000 บาท หักสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่อาจนำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน (บำเหน็จค้ำประกัน) โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 100,000 บาทนี้ (หากอัตราบำนาญถึงเกณฑ์) จะขอรับได้เมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปีบริบูรณ์


ข่าวที่ 10 เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40

หลังจากที่ในปี 2561 สำนักงานประกันสังคมได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มาเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 สมทบ 70 บาท คุ้มครอง 3 กรณี ทางเลือกที่ 2 สมทบ 100 บาท คุ้มครอง 4 กรณี และทางเลือกที่ 3 สมทบ 150 บาท คุ้มครอง 5 กรณี นั้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตสำหรับทางเลือกที่ 1-2 เป็น 25,000 บาท และ 8,000 บาท ตามลำดับ ส่วนทางเลือกที่ 3 เพิ่มค่าทำศพเป็น 50,000 บาท และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบให้ขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนเป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ โดยหลังจากนี้จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อใช้บังคับต่อไป[4]


และนี่ก็คือ 10 ข่าวเด่นของวงการวางแผนการเงินในรอบปีหมูทอง 2562 สุดท้ายนี้ ขอกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ 2563” และขอส่งความปรารถนาดีไปยังทุกท่าน จากใจพวกเราชาว Siam Wealth Management หวังว่าปี 2563 ปีหนูทอง จะเป็นของทุก ๆ คน นะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


[1] ต่อมาได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 357 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เป็นการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว

[2] ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะครั้งแรก ให้แก่ผู้มีหน้าที่รายงาน ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

[3] ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2563 ได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 1/2563 และที่ สกส2. 1/2563 มาแทนที่ประกาศฉบับเดิม เป็นการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ข้างต้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยเหลือผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก โดยมีการแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ

  • แยกพิจารณาสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่อง (เช่น ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน ฯลฯ) สำหรับหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยจะกู้เพิ่มได้ไม่เกิน 10% (ยกเว้นกรณี Refinance)

  • ปรับลดระยะเวลาขั้นต่ำในการผ่อนหลังแรก ที่จะวางดาวน์ขั้นต่ำเพียง 10% สำหรับหลังที่ 2 ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ลงเหลือ 2 ปี

  • ปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับหลังแรกที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาท ลงเหลือ 10%

[4] ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เป็นการขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนดังกล่าว และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เป็นการเพิ่มอัตราเงินค่าทำศพดังกล่าว

50 views0 comments
bottom of page