top of page

เมื่อสถาบันการเงินต้องส่ง 'ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ' ให้กรมสรรพากร

Updated: Dec 30, 2019


ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วเรียบร้อย สำหรับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ซึ่งหลายคนจับตามองเนื้อหาที่เกี่ยวกับการส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กับกรมสรรพากร มาเร็วกว่าที่บอกไว้ตอนแรกว่าจะเริ่มปีหน้า


มีผลบังคับใช้ทันทีวันนี้ ! และเริ่มส่งข้อมูลครั้งแรกปี 2563 !!

สรุปมาไว้แล้ว ทั้งเงื่อนไขธุรกรรมที่ต้องส่ง ช่วงเวลาที่จะส่ง ฯ ลองอ่านและทำความเข้าใจดูครับ


'ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ' หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมา ดังต่อไปนี้


1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป

(2,999 ครั้งไม่นับว่าต้องส่ง แต่ 3,000 ครั้งปุ๊บส่งเลย)


หรือ


2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง

และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

(ต้องมีจำนวนครั้งตั้งแต่ 400 ครั้ง พร้อมกับยอดรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาท

ขาดเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งก็ไม่นับว่าต้องส่ง)


เมื่อเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งใน 2 ข้อข้างบน ข้อมูลที่อยู่กับแต่ละสถาบันการเงินก็จะถูกส่งไปหากรมสรรพากร โดยรวมทุกบัญชีในชื่อบุคคลเดียวกันต่อหนึ่งสถาบันการเงิน (หมายความถึงทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)


เช่น สมมติเรามีบัญชีกับธนาคาร A 2 บัญชีที่รวมกันแล้วเข้าเงื่อนไข และบัญชีกับธนาคาร B 3 บัญชีที่ไม่เข้าเงื่อนไข ก็จะมีแค่ธนาคาร A ที่ส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะไปให้กรมสรรพากร ส่วนธนาคาร B ไม่ต้องส่ง เป็นต้น

ถ้าดูจากกราฟในรูป จะแสดงโซนลักษณะของธุรกรรมทุกบัญชีรวมกันต่อหนึ่งสถาบันการเงินที่ถูกมองว่าเป็น 'ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ'


ซึ่งข้อมูลธุรกรรมที่ได้รับมา กรมสรรพากรสามารถเก็บไว้ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี


นอกจากนี้ จำนวนครั้ง หรือ ยอดรวม อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตตามประกาศในกฎกระทรวง



[อัพเดตล่าสุด] การรายงานครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยจะรายงานเฉพาะข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24-31 ธันวาคม 2562 เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว


ซึ่งทุกปี ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะนับรวมข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคมของทุปี เพื่อนำส่งในปีถัดไป


ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ได้แก่


  1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารต่าง ๆ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

  2. สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธกส. ธอส. บสย. ฯลฯ

  3. ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน เช่น e-wallet ทั้งหลาย ฯลฯ


ซึ่งทางสถาบันการเงินเหล่านี้มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เราเองผู้เป็นเจ้าของบัญชีนั้นไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น


และทางกรมสรรพากรได้ชี้แจงแล้วว่า ต้องการนำข้อมูลไปเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรในอนาคต ไม่ใช่การตรวจสอบภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีจากธุรกรรม


แล้วเราจะเตรียมตัวยังไงได้บ้าง


อันดับแรก คือแบ่งบัญชีให้ชัดเจน แยกเงินส่วนตัวออกจากกิจการ เพื่อความชัดเจนและง่ายในการตรวจสอบความถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยในการบริหารจัดการบัญชีในแต่ละส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการทำธุรกิจและติดตามผลประกอบการอีกด้วย


ถัดมาคือควรที่จะต้องเก็บหลักฐานการทำธุรกรรมให้ครบถ้วน เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของธุรกรรม ว่าเป็นเงินได้จากแหล่งใด เมื่อเวลาผ่านไปกลับมาตรวจสอบอีกครั้งจะได้มีหลักฐานที่ระบุชัดเจน


สุดท้ายคืออยากแนะนำให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง แล้วไปหาวิธีลดภาระทางภาษีด้วยการวางแผนบริหารจัดการภาษีอย่างถูกวิธีและถูกกฎหมาย


อย่าลืมว่า ..

"หนีภาษี" เป็นคดีอาญานะครับ

#สรุป ในสรุปอีกที

เผื่อใครอยากเก็บไว้อ่านในรูปเดียวครับ


นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ยังมีการพูดถึงในอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น e-Tax Invoice / e-Receipt / e-Withholding Tax / e-Filing อีกด้วย


แนะนำให้เจ้าของกิจการทั้งหลายลองศึกษากันดูเพิ่มเติมครับ


ขอขอบคุณภาพจาก กรมสรรพากร ( Revenue Department )

อ่าน พ.ร.บ. ฯ ฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/034/T_0023.PDF

797 views0 comments

Comments


bottom of page