top of page

นายจ้าง-ลูกจ้างต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่เริ่มบังคับใช้


วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 นี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จะเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตามที่เป็นกระแสข่าวมาหลายเดือนก่อนหน้านี้ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีอยู่หลายประเด็นที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง เป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันครับ...


มุมมองของนายจ้าง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุด มีการเพิ่มเติมสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ดังนี้

  • กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากตัวลูกจ้างด้วย ทั้งนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิที่เคยมีต่อนายจ้างเดิมต่อไป และนายจ้างใหม่ต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อลูกจ้างผู้นั้น

  • กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเท่าที่ลูกจ้างควรจะได้รับ ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า (หรือที่มักเรียกกันว่า ค่าตกใจ) ทันทีในวันที่เลิกจ้าง หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • เพิ่มโทษนายจ้าง หากไม่จ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมงให้แก่ลูกจ้างรายวัน/รายชั่วโมง สำหรับการทำงานชั่วโมงที่ 9 (ชดเชยวันที่ทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมง) จากเดิมปรับไม่เกิน 5,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • กำหนดให้นายจ้างต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างชายและหญิงให้เท่ากัน ในงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน จากเดิมที่คำนึงถึงเพียงลักษณะ คุณภาพ และปริมาณของงานที่เท่ากัน เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100 ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อปี 2542 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

  • กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใด ไม่ว่าจะย้ายไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือย้ายไปยังสถานที่อื่น นายจ้างต้องปิดประกาศไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้าย โดยต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด (เดิมกำหนดเพียงให้แจ้งลูกจ้างทราบล่วงหน้าเฉพาะกรณีย้ายไปยังสถานที่อื่น โดยไม่ต้องปิดประกาศก็ได้)

  • ในกรณีที่นายจ้างไม่เห็นด้วยกับเหตุผลตามที่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะย้ายไปทำงานด้วยได้แจ้งไว้เป็นหนังสือ ให้นายจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง (เดิมให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ หากไม่ได้รับค่าชดเชยพิเศษ)


มุมมองของลูกจ้าง

สำหรับลูกจ้างนั้น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุดนี้ ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำที่นายจ้างต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง รวมถึงหน้าที่บางประการของลูกจ้าง ดังนี้

  • เพิ่มวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น จากเดิมขึ้นอยู่กับข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง เป็นไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 3 วันทำงาน

  • เพิ่มวันลาคลอดสำหรับลูกจ้างหญิง จากครรภ์ละ 90 วัน เป็น 98 วัน โดยรวมวันลาเพื่อการตรวจครรภ์ และนับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาดังกล่าวด้วย เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ที่กำหนดให้สตรีต้องได้หยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ (แต่ค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรยังคงอยู่ที่ไม่เกิน 45 วันเช่นเดิม)

  • เพิ่มอัตราเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง กรณีทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป จากเดิมไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็น 400 วัน

  • ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการ หากลูกจ้างเห็นว่าการย้ายดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของตนหรือครอบครัว และไม่ประสงค์จะย้ายไปทำงานด้วย ต้องแจ้งนายจ้างเป็นหนังสือภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปิดประกาศ (หรือวันที่ย้ายสถานประกอบกิจการ หากนายจ้างไม่ได้ปิดประกาศ) ในกรณีที่นายจ้างเห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง และหากนายจ้างไม่ได้ปิดประกาศ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษเพิ่มเติมเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันอีกด้วย (เดิมลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้เลย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือวันย้ายหากไม่ได้รับแจ้ง)


สรุป

หลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่างมีสิทธิและหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกหลายประการ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการทั้งหลายที่จะต้องทำความเข้าใจบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และปฏิบัติตามให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ส่วนลูกจ้างเองก็ต้องทราบถึงสิทธิที่ตนเองพึงได้รับจากนายจ้าง ทั้งสิทธิที่พึงได้รับในขณะทำงาน เช่น วันลา ค่าล่วงเวลา หรือสิทธิที่พึงได้รับเมื่อออกจากงานแล้ว เช่น ค่าชดเชย ซึ่งทั้งหมดก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การ “คุ้มครองลูกจ้าง” เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามมาตรฐานสากล อันจะทำให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบนั่นเองครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

Equal Remuneration Convention, 1951 (No. 100)

Maternity Protection Convention, 2000 (No. 183)

การอบรมหัวข้อ “Update กฎหมายแรงงานใหม่ ปี 2560-2562 (ภาคปฏิบัติ)” โดย อ.สิทธิศักดิ์ ศรีธรรมวัฒนา


295 views0 comments

Comentarios


bottom of page