“ธนาคารจะดำเนินการขอคืนเงินภาษีอากรส่วนที่ได้รับยกเว้นให้คุณโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 64 เป็นต้นไป สำหรับลูกค้าที่ซื้อพันธบัตรในตลาดรอง...”
นี่คือข้อความแจ้งเตือน (Notification) ที่ผู้ใช้บริการวอลเล็ต สบม. ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้รับเมื่อช่วงเช้าวันนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าภาษีอะไรที่ขอคืนได้ หรือจะเกี่ยวกับการขอคืนภาษีสิ้นปีหรือเปล่า เรื่องนี้มีคำตอบให้ครับ...
รู้จักวอลเล็ต สบม.
วอลเล็ต สบม. หรือ “สะสมบอนด์มั่งคั่ง” เป็นช่องทางลงทุนและซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ และจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทุนได้ด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 100 บาท และสามารถซื้อขายพันธบัตรเหล่านั้นในตลาดรองได้โดยสะดวก
แล้วที่จะขอคืนภาษีผ่านวอลเล็ต สบม. คืออะไร?
ก่อนอื่นต้องขออธิบายครับว่า ราคาของตราสารหนี้ (พันธบัตรหรือหุ้นกู้) ที่แสดงในการซื้อขายนั้น เรียกว่าเป็น Gross Price (หรือ Dirty Price) ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Clean Price และอีกส่วนหนึ่งคือดอกเบี้ยค้างรับ (Accrued Interest) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำหรับช่วงเวลาหลังจากการจ่ายดอกเบี้ยงวดก่อนหน้า จนถึงก่อนที่ผู้ลงทุนจะเข้าถือตราสารหนี้ดังกล่าว หรือกล่าวได้ว่า ดอกเบี้ยส่วนนี้เป็นสิทธิของผู้ถือรายเดิม แต่ผู้ถือรายใหม่ได้ซื้อสิทธินั้นมาพร้อมกับตราสารหนี้ดังกล่าว ทำให้ผู้ถือรายใหม่ได้รับดอกเบี้ยเต็มจำนวนของการจ่ายดอกเบี้ยงวดนั้น สรุปแล้วก็คือ
Gross Price = Clean Price + Accrued Interest
มาพูดถึงประเด็นทางภาษีบ้างครับ หลายท่านคงทราบว่า ทั้งดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ เป็นเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ถือตราสารหนี้รายเดิมจะถูกหักภาษีจาก Gross Price เมื่อขายตราสารหนี้นั้น ส่วนผู้ถือรายใหม่ที่ได้รับดอกเบี้ยทั้งจำนวนของงวดนั้นก็ถูกหักภาษีจากดอกเบี้ยอีก ทำให้เกิดการเสียภาษีซ้ำซ้อนสำหรับดอกเบี้ยค้างรับ ดังนั้น กฎหมายจึงให้สิทธิผู้ลงทุนซึ่งได้รับดอกเบี้ยทั้งจำนวนและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าว ในการขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย สำหรับส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้าถือครองตราสารหนี้ได้
สำหรับผู้ที่ลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. นั้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ จะดำเนินการยื่นแบบ ค. 10 แทนผู้ลงทุนโดยอัตโนมัติเมื่อมีการจ่ายดอกเบี้ย เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยค้างรับ และผู้ลงทุนจะรับเงินภาษีที่ขอคืนผ่านวอลเล็ต สบม. ได้ทันที
แล้วเรื่องขอคืนภาษีสิ้นปีล่ะ?
การขอคืนภาษีผ่านแบบ ค. 10 ที่กล่าวถึงไปนั้น เป็นคนละส่วนกับการขอคืนภาษีสิ้นปีพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 นะครับ โดยในการขอคืนภาษีสิ้นปี เงินได้ประเภทดอกเบี้ยตราสารหนี้ สามารถเลือกไม่นำไปรวมคำนวณภาษี (Final Tax) ได้ แต่หากเลือกรวมคำนวณภาษี จะต้องรวมเงินได้ประเภทดอกเบี้ยทั้งหมดด้วย เช่น เงินฝากประจำ หุ้นกู้ สำหรับกำไรจากการขายตราสารหนี้ ก็เป็นเงินได้ที่สามารถเลือกถือเป็น Final Tax หรือรวมคำนวณภาษีก็ได้เช่นกัน
การซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐที่บุคคลธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนและการระดมทุนของรัฐบาล อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมนั่นเองครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (3) วรรคหนึ่ง (ก) (ค), 50 (2) (ข)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (30) (ค)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 376 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
#เป๋าตัง #วอลเล็ตสบม #สะสมบอนด์มั่งคั่ง #ขอคืนภาษี #SiamWealthManagement #VinayaChy
Comments