top of page

การเลือกวิธียื่นแบบภาษีของคู่สามีภรรยากับสิทธิลดหย่อน

Updated: Jul 12, 2021


เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักก็มาถึงอีกครั้งแล้วนะครับ ช่วงเวลาแบบนี้เราคนไทยทุกคนทราบดีว่า ยังอยู่ในกำหนดเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน คู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มีทางเลือกในการรวมหรือแยกคำนวณภาษี ซึ่งแต่ละทางเลือกจะส่งผลต่อสิทธิลดหย่อนในกรณีต่าง ๆ ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่าครับ...


การยื่นแบบภาษีของสามีภรรยา

ในอดีต ตั้งแต่ปี 2490 ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี กำหนดให้สามีภรรยาที่อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ถือเอาเงินได้ของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ต่อมาในปี 2520 จึงมีการบัญญัติเพิ่มมาตรา 57 เบญจ ให้สิทธิภรรยาแยกยื่นแบบได้เฉพาะเงินได้ประเภทที่ 1 คือเงินเดือนเท่านั้น จนกระทั่งปี 2555 มีการบัญญัติมาตรา 57 ฉ มาแทนที่มาตราทั้งสองข้างต้น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงทำให้คู่สามีภรรยามีทางเลือกในการยื่นแบบภาษีถึง 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ

  1. ต่างฝ่ายต่างแยกยื่นแบบต่างหากจากกัน

  2. ยื่นแบบรวมกันทั้งหมดในชื่อสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

  3. สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนเงินได้ประเภทอื่นรวมยื่นกับภรรยาหรือสามี

สำหรับเงินได้ที่สามีภรรยาได้รับร่วมกันและไม่สามารถแบ่งได้อย่างชัดแจ้ง ให้ถือว่าต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง แต่เฉพาะเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้นอกเหนือจากประเภทที่ 1 ถึง 7) สามารถตกลงแบ่งสัดส่วนเงินได้ได้เอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือว่าต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่งเช่นกัน


ทางเลือกยื่นแบบมีผลต่อค่าลดหย่อนอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า ค่าลดหย่อนนั้นเป็นสิทธิที่ติดตัวผู้มีเงินได้แต่ละคน ดังนั้น หากคู่สามีภรรยาเลือกแยกยื่นแบบ ไม่ว่าจะแยกต่างหากจากกัน (ทางเลือกที่ 1) หรือแยกเฉพาะเงินเดือน (ทางเลือกที่ 3) แต่ละฝ่ายก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเฉพาะส่วนของตนเอง ในขณะที่การรวมยื่นแบบ (ทางเลือกที่ 2) จะทำให้ฝ่ายที่เป็นผู้ยื่นแบบสามารถใช้สิทธิลดหย่อนของอีกฝ่ายได้ด้วย รวมถึงกรณีที่สามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ในบางกรณีอีกด้วย จะขอยกตัวอย่างค่าลดหย่อนที่สำคัญดังนี้ครับ...

  • ลดหย่อนส่วนตัวและคู่สมรส รวมกัน 120,000 บาท หากแยกยื่นแบบ สามีและภรรยาจะลดหย่อนส่วนตัวได้คนละ 60,000 บาทเท่านั้น จะลดหย่อนคู่สมรสอีก 60,000 บาทได้ก็ต่อเมื่อรวมยื่นแบบ หรือคู่สมรสไม่มีเงินได้

  • บุตร คนละ 30,000 บาท (หรือ 60,000 บาท สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561) ต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิได้เต็มจำนวน หากรวมยื่นแบบจะสามารถใช้สิทธิได้ 60,000 บาท หรือ 120,000 บาท ต่อบุตร 1 คน

  • ดูแลบิดามารดา ท่านละ 30,000 บาท หากรวมยื่นแบบ รวมทั้งกรณีที่สามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว จะสามารถใช้สิทธิจากบิดามารดาของคู่สมรสได้ด้วย (อย่าลืมตกลงกับพี่น้องของคู่สมรสด้วยนะครับ)

  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งต่อผู้มีเงินได้ 1 คน และต่อ 1 กรมธรรม์ หากสามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียวจะใช้สิทธิสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้ด้วย แต่รวมกับบิดามารดาของตนเอง (สูงสุด 4 ท่าน) แล้วไม่เกิน 15,000 บาท

  • ดูแลผู้พิการ/ผู้ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท หากสามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีชื่อในบัตรประจำตัวผู้พิการแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ดูแลบุตรที่เป็นผู้พิการ จะลดหย่อนสำหรับบุตรที่เป็นผู้พิการคนนั้นได้ด้วย

  • เบี้ยประกันชีวิต ปีละไม่เกิน 100,000 บาท สิทธิจะอยู่กับฝ่ายที่มีชื่อเป็นผู้เอาประกัน แต่หากเลือกรวมยื่นแบบก็สามารถใช้สิทธิของอีกฝ่ายได้ด้วย ส่วนกรณีสามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียวและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี จะลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้อีกไม่เกิน 10,000 บาท อีกด้วย

  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน ปีละไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งต่อผู้มีเงินได้ 1 คน และต่อบ้าน 1 หลัง สิทธิจะอยู่กับผู้ที่มีชื่อในสัญญาเป็นผู้กู้โดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้ การลดหย่อนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการกู้

  1. หากสามีภรรยากู้ร่วมกันและแยกยื่นแบบ จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงกรณีกู้ร่วมกันแต่มีเงินได้ฝ่ายเดียว สามารถใช้สิทธิของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ได้ด้วย (รวมเป็นไม่เกิน 100,000 บาท)

  2. หากต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ต่างฝ่ายต่างลดหย่อนได้ตามจริงสำหรับส่วนของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากรวมยื่นแบบ จะสามารถใช้สิทธิของอีกฝ่ายได้ด้วย

  3. หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ครรภ์ละไม่เกิน 60,000 บาท สิทธิจะอยู่กับฝ่ายภรรยาเป็นหลัก ดังนั้น ฝ่ายสามีจะใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อเลือกรวมยื่นแบบในชื่อสามี หรือกรณีภรรยาไม่มีเงินได้

  • เงินบริจาค สิทธิจะอยู่กับผู้มีชื่อในเอกสารหลักฐาน เช่น อนุโมทนาบัตร หากไม่ได้แยกจำนวนเงิน สิทธิดังกล่าวจะเฉลี่ยตามจำนวนชื่อ หากสามีภรรยาบริจาคร่วมกันแต่ไม่ได้แยกจำนวนเงิน จะถือว่าบริจาคคนละครึ่งหนึ่ง แต่หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว จะไม่สามารถนำส่วนของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้มาลดหย่อนได้ กรณีนี้ ขอแนะนำว่าควรระบุเป็นชื่อของฝ่ายที่มีเงินได้ ตามด้วยคำว่า “และครอบครัว” นอกจากจะอิ่มบุญทั้งครอบครัวแล้ว ยังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เต็มที่ด้วยครับ

สำหรับค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยกตัวอย่างไว้ ก็เป็นไปตามหลักการเดียวกัน นั่นคือ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการใช้สิทธิของอีกฝ่าย ต้องรวมยื่นแบบในชื่อของตนเอง


ในเดือนแห่งความรักแบบนี้ ผมจึงขอเชิญชวนคู่รักทั่วประเทศมายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลือกวิธีรวมหรือแยกยื่นแบบให้เหมาะสมกับเงินได้และสิทธิลดหย่อนของทั้งสองฝ่าย โดยยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ (ยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน และพิเศษสำหรับปีภาษี 2562 สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563) อันจะเป็นการแสดงความรักครอบครัว และรักประเทศชาติของเราไปพร้อม ๆ กันนั่นเองครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (1) (2) (7), 56, 57 ฉ

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (53) (61) (76) (99)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อ 1 1.1 (1)[1]

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฯ ข้อ 2 (5) (7) (8) (9)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ฯ ข้อ 1 (3) (5) (6)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ข้อ 1 (4) (5) (6)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้นฯ ข้อ 2 (5) (7) (8) (9)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ฯ ข้อ 3 (2) (3)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขรวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการฯ หรือคนทุพพลภาพฯ ข้อ 1 (3) วรรคสี่

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ข้อ 2 (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 7700/2548, 8005/2548

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 17/2555

คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2)

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/ก.0039 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2546, กค 0802/4587 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2533, กค 0802/1793 ลงวันที่ 3 เมษายน 2533, กค 0706(กม.04)/2065 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2550



[1] ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 3) ข้อ 1 1.1 (1)

12,379 views0 comments
bottom of page