top of page

มีเงินได้ต้องเสียภาษีครึ่งปี อย่าลืมทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย

Updated: Jul 12, 2021


ช่วงเวลาสำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) มาถึงอีกครั้งแล้วนะครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 คือผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เกินกว่า 60,000 บาท (สำหรับผู้ที่เป็นโสด รวมทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หรือ 120,000 บาท (สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส) แต่บุคคลเหล่านี้ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญก็คือ การจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่ายประจำวัน รายละเอียดในเรื่องนี้เป็นอย่างไร มาติดตามกันครับ...


กรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT (เช่น ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้น VAT หรือมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี) และมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 จะต้องจัดทำบัญชีเงินสดรับ-จ่ายประจำวัน (ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ) โดยต้องลงรายการภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดรายการนั้น ๆ โดยอาจลงรายการเป็นยอดรวมของแต่ละวันทำการ (เช่น “ขาย/ซื้อสินค้า”) หรือลงรายละเอียดของรายการรายรับ-รายจ่าย (เช่น “ขาย_(ชื่อสินค้า)_” หรือ “ซื้อ_(ชื่อวัสดุ)_”) ก็ได้ และให้สรุปยอดรายรับ-รายจ่ายเป็นรายเดือน หากไม่จัดทำรายงานดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 94

รายงานเงินสดรับ-จ่าย

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

นอกจากรายงานเงินสดรับ-จ่ายแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ยังมีหน้าที่จัดทำ “รายงานบัญชีรับ-จ่าย” เพื่อแนบประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี (ภ.ง.ด. 90) ซึ่งประกอบด้วยรายการต่อไปนี้

  1. ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีภาษีก่อน ซึ่งจะเท่ากับรายการที่ 5. ของปีภาษีก่อนหน้า

  2. ยอดรวมรายได้ระหว่างปีภาษี ทั้งที่ต้องรวมคำนวณภาษี และที่ถือเป็น Final Tax ได้

  3. ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี ต้องเป็นยอดรายจ่ายที่จ่ายไปจริง รวมกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่ถือเป็น Final Tax ในปีภาษีปัจจุบัน และค่าภาษีเงินได้ประจำปีภาษีก่อนหน้า

  4. ส่วนแบ่งของกำไรหรือส่วนแบ่งเงินได้ที่จ่ายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคล หากมีการแบ่งกำไรหรือเงินได้ระหว่างปีภาษีปัจจุบัน

  5. ยอดเงินคงเหลือยกไปปีภาษีถัดไป เกิดจากรายการที่ 1. + 2. – 3. – 4.

รายงานบัญชีรับ-จ่าย

หากห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลไม่จัดทำรายงานดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีไม่ทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย นอกจากนี้ หากมีการแบ่งกำไรหรือเงินได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลที่ได้รับส่วนแบ่งดังกล่าวต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ของตนเองด้วย โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 และให้หักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น


กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT

สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องจัดทำรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ โดยต้องลงรายการภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ระบุในใบกำกับภาษี ส่วนรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (เฉพาะผู้ประกอบการที่ขายสินค้า) นั้น ให้ใช้วิธีกรอก “แบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือ” ที่ตรวจนับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีแทน และกรณีมีการรับประกันสินค้าหรือบริการซ่อมสินค้าเมื่อชำรุดบกพร่อง จะต้องจัดทำรายงานจ่ายอะไหล่โดยไม่คิดมูลค่าด้วย หากไม่จัดทำรายงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของเงินภาษี แต่เบี้ยปรับอาจได้รับการลดเหลือ 40% ของเบี้ยปรับ หากความผิดเกิดขึ้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือเหลือ 50% ของเบี้ยปรับ หากความผิดเกิดขึ้นหลังจากนั้น

รายงานภาษีขาย (ด้านซ้าย) และรายงานภาษีซื้อ (ด้านขวา)
แบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือ (ด้านซ้าย) และรายงานจ่ายอะไหล่โดยไม่คิดมูลค่า (ด้านขวา)

การจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย หลายคนอาจคิดว่าเป็นภาระเพิ่มขึ้นในการประกอบธุรกิจ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงผลการดำเนินงานของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนธุรกิจในอนาคต และยังใช้แสดงเป็นหลักฐานในกรณีต้องการหักค่าใช้จ่ายตามจริงในการยื่นแบบภาษีเงินได้ได้อีกด้วย ที่สำคัญที่สุด อย่าลืมยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ (ยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม) และชำระภาษีครึ่งปีกันด้วยนะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 35, 56 (1) (3), 56 ทวิ, 81/1, 87, 87/1, 89 วรรคหนึ่ง (10), 90/3 (3)

พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ

พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 มาตรา 4

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อ 1 1.1 (2)[1]

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษี และเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อฯ ข้อ 2/1, 3 วรรคสาม

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 104) เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานแตกต่างไปจากรายงานตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2 (2), 3 วรรคหนึ่ง

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะฯ ข้อ 6

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 81/2542 เรื่อง การคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มฯ ข้อ 10

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 149/2558 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ข้อ 4, 6


[1] ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 3) ข้อ 1 1.1 (2)

915 views0 comments
bottom of page