top of page

5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการยื่นแบบภาษีครึ่งปี

Updated: Jul 12, 2021


ผ่านไปไม่กี่อึดใจ เราก็มาถึงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2562 กันแล้วนะครับ และเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ ก็ได้เวลาของการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 94 ซึ่งจากการสำรวจในโลกโซเชียล มีบางเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดกันอยู่ วันนี้ผมจะเจาะลึกถึงประเด็นเกี่ยวกับการยื่นแบบและเสียภาษีครึ่งปีที่เป็นความเข้าใจผิด 5 เรื่องด้วยกัน จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยครับ...


เรื่องที่ 1 ฉันต้องยื่นแบบครึ่งปีไหมเนี่ย?

ตอบว่า “ต้อง” ครับ ถ้าในช่วงครึ่งปีแรก คือเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา คุณมีเงินได้พึงประเมิน เฉพาะประเภทที่ 5 ถึง 8 เกินกว่า 60,000 บาท ถ้าหากคุณโสด หรือ 120,000 บาท ถ้าหากคุณมีคู่สมรส แต่ว่าตอบแบบนี้หลายคนคงสงสัยว่า เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึง 8 ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง จะแจกแจงให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ครับ

  • ประเภทที่ 5 คือ ค่าเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม ที่ดิน ยานพาหนะ ฯลฯ

  • ประเภทที่ 6 คือ ค่าวิชาชีพอิสระ 6 ประเภท ได้แก่ กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม

  • ประเภทที่ 7 คือ ค่ารับเหมาที่ต้องออกสัมภาระสำคัญนอกจากเครื่องมือที่มี

  • ประเภทที่ 8 คือ เงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1 ถึง 7 เช่น เปิดร้านอาหาร ขายของออนไลน์ รางวัลจากการชิงโชค เงินได้จากการรับให้ ฯลฯ

โดยเงินได้ทั้งหมดสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบเหมาและตามจริง รวมถึงผู้พิการหรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในครึ่งปีแรก ก็ได้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก เหมือนตอนสิ้นปี


เรื่องที่ 2 ค่าขาย LTF/RMF กับเงินปันผลกองทุนรวม ต้องยื่นแบบครึ่งปีไหม?

ถูกต้องครับ... เพราะว่าเงินได้เหล่านี้จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเภทที่ 1 ถึง 7 แตกต่างจากเงินปันผลจากหุ้น/REITs ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีครึ่งปี อย่างไรก็ตาม เงินได้บางอย่าง ยังคงสามารถเลือกที่จะไม่รวมคำนวณภาษี หรือถือเป็น Final Tax ได้เช่นเดียวกับกรณีคำนวณภาษีสิ้นปี เช่น เงินปันผลกองทุนรวม เงินได้จากการรับให้

แต่ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เงินปันผลจากกองทุนรวม ตลอดจนค่าขายกองทุนรวมจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปีนะครับ


เรื่องที่ 3 สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ จะลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของทั้งปีทุกอย่างใช่ไหม?

ถูกแต่ไม่ทั้งหมดครับ... สิทธิลดหย่อนในการยื่นแบบภาษีครึ่งปีจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน คือ

  • ลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของทั้งปี ได้แก่ค่าลดหย่อนพื้นฐาน คือ ลดหย่อนส่วนตัว (ครึ่งหนึ่งคือ 30,000 บาท) คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเฉพาะเงินได้ประเภทที่ 1 ถึง 4 (ครึ่งหนึ่งคือ 30,000 บาท) บุตร (ครึ่งหนึ่งคือคนละ 15,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561) ดูแลบิดามารดา (ครึ่งหนึ่งคือท่านละ 15,000 บาท) ดูแลผู้พิการ/ผู้ทุพพลภาพ (ครึ่งหนึ่งคือคนละ 30,000 บาท)

  • ลดหย่อนได้ไม่ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ครึ่งหนึ่ง ได้แก่เบี้ยประกันชีวิต และดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน โดยต้องเป็นยอดที่ได้จ่ายจริงในครึ่งปีแรก (ถ้าแค่ทราบยอดแล้วแต่จะจ่ายเบี้ยตอนสิ้นปี จะลดหย่อนครึ่งปีไม่ได้) สูงสุดอย่างละ 95,000 บาท

  • ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ภาษากฎหมายจะใช้คำว่า ยกเว้นเงินได้ เช่น เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา (สูงสุด 15,000 บาท) ค่าซื้อ LTF/RMF (15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุด 500,000 บาท)[1] เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) (สูงสุด 13,200 บาท) เงินสมทบประกันสังคม (มาตรา 33, 39 หรือ 40) เงินบริจาค (ทั้งกลุ่ม 2 เท่า และ 1 เท่า) โดยทั้งหมดต้องเป็นยอดที่ได้จ่ายจริงในครึ่งปีแรกเช่นกัน

ตรงนี้ผมขอเตือนเล็กน้อยว่า เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะไม่สามารถใช้ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ได้ เพราะเป็นค่าลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือเงินเดือน ซึ่งจะรวมคำนวณภาษีสิ้นปีเท่านั้นนะครับ


เรื่องที่ 4 ค่าลดหย่อนก็ได้ครึ่งหนึ่ง แล้วอัตราภาษีครึ่งปีล่ะ?

หลายคนคงคิดว่า การคำนวณภาษีครึ่งปีคงจะคิดจากครึ่งหนึ่งของอัตราทั้งปีใช่ไหมล่ะครับ บอกเลยว่า “ผิด” นะครับ การคำนวณภาษีครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด. 94 จะใช้อัตราเดียวกับตอนสิ้นปี คือ

  • วิธีที่ 1 คำนวณจากเงินได้สุทธิ (หักค่าใช้จ่าย-ลดหย่อนแล้ว) คูณอัตราภาษีตามขั้นบันได 5-35%

  • วิธีที่ 2 (เฉพาะกรณีเงินได้เกิน 1,000,000 บาท) คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย-ลดหย่อน) คูณด้วย 0.5%

คำนวณจากวิธีใดได้ยอดภาษีที่ต้องเสียมากกว่าก็ใช้ยอดนั้นครับ


เรื่องที่ 5 ยื่นแบบครึ่งปีแล้ว ตอนสิ้นปีต้องยื่นแบบอีกไหม?

“ต้อง” อยู่แล้วครับ... โดยหากคุณยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 และเสียภาษีครึ่งปีแล้วนั้น เมื่อคุณยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ในตอนสิ้นปี คุณสามารถนำภาษีที่เสียไปตอนครึ่งปีมาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียตอนสิ้นปีได้ และถ้าภาษีที่เสียครึ่งปีสูงกว่าภาษีสิ้นปี คุณยังมีสิทธิขอคืนภาษีได้อีกด้วยครับ


ได้ทำความเข้าใจเรื่องราวที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีทั้ง 5 เรื่องกันไปแล้ว ใครที่รู้ตัวว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึง 8 ถึงเกณฑ์ ก็อย่าลืมยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายนนี้ (ยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม) และชำระภาษีครึ่งปีกันด้วย จะได้ไม่ต้องถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท กับเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนนะครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy

อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่ง, 35, 47 (1) (7), 48 (1) (2) (4/1) (6) (7), 56 วรรคหนึ่ง (1) (3), 56 ทวิ, บัญชีอัตราภาษีเงินได้ (1)

พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536[2]

พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 480) พ.ศ. 2552

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (53) (55) (61) (66) (72) (76) (81) (90)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อ 1 1.1 (2)[3]


[1] ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิลดหย่อนเกี่ยวกับค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ดังนี้

  • ไม่มีการให้สิทธิลดหย่อนสำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ต่อไป

  • เพิ่มสิทธิลดหย่อนสำหรับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ในอัตรา 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่ปี 2563-2567 และพิเศษสำหรับเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 สามารถซื้อ SSF ที่ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% (SSFX) ได้เพิ่มอีกไม่เกิน 200,000 บาท

  • เพิ่มสิทธิลดหย่อนสำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จาก 15% เป็น 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าซื้อ SSF และ RMF (ยกเว้น SSFX) กับเงินสะสมเข้า PVD, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กอช. และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

[2] ต่อมายกเลิกโดย พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 689) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงประเภทเงินได้ของเงินปันผลกองทุนรวม จากประเภทที่ 8 เป็นประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

[3] ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 3) ข้อ 1 1.1 (2)

280 views0 comments
bottom of page