เป็นที่ทราบกันดีว่า เงินได้พึงประเมินบางประเภท ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกที่จะเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น หรือที่เรียกกันว่า Final Tax ซึ่งถือเป็นวิธีการวางแผนภาษีที่เป็นที่นิยมอีกวิธีหนึ่ง ตัวอย่างของเงินได้พึงประเมินเหล่านี้ก็คือ...
เงินได้ประเภทดอกเบี้ย (ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%)
เงินได้ประเภทเงินปันผล (ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10%)
เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือที่ได้จากการให้โดยเสน่หา หรือที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร (ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อโอน โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในการคำนวณ)
แล้วถ้ายื่นแบบไปแล้ว แล้วอยากเปลี่ยนใจทีหลังล่ะ?
น่าจะเป็นคำถามในใจผู้มีเงินได้หลาย ๆ คน หลังพ้นกำหนดยื่นแบบภาษีประจำปีนะครับ บางคนอาจจะเลือกนำเงินได้เหล่านี้รวมคำนวณภาษีไปตอนยื่นแบบ แต่อยากเปลี่ยนใจถือเป็น Final Tax ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเงินได้อื่นต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ในขณะที่บางคนตัดสินใจถือเป็น Final Tax ไปในช่วงยื่นแบบปกติ แต่ตอนนี้อยากเปลี่ยนใจนำเงินได้เหล่านี้ไปรวมคำนวณภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเงินได้อื่นน้อย
สำหรับคำตอบของคำถามนี้ก็คือ “ได้” ทั้ง 2 กรณีครับ เพราะว่าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยว่า สิทธิดังกล่าวนี้ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดเวลาใช้สิทธิหรือห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิไว้ ดังนั้น หากผู้มีเงินได้นำเงินได้เหล่านี้มารวมคำนวณภาษีแล้วทำให้มีภาษีที่ต้องเสียสูงกว่าเมื่อถือเป็น Final Tax ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแล้วจึงยื่นแบบใหม่โดยถือเป็น Final Tax จึงไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการยื่นแบบเพิ่มเติมในกรณีที่ยื่นแบบไว้ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังเช่นเดียวกัน คือ หากจะนำเงินได้ประเภทดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมารวมคำนวณภาษี ต้องรวมทุกรายการในประเภทนั้น ๆ จะเลือกมาเพียงบางรายการไม่ได้ (แต่สามารถตัดสินใจแตกต่างกันระหว่างดอกเบี้ยกับเงินปันผลได้) นั่นคือ
ดอกเบี้ย จะต้องรวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้
เงินปันผล จะต้องรวมทั้งเงินปันผลจากหุ้น (ในและนอกตลาด) และจากกองทุนรวม
นอกจากนี้ การ “เปลี่ยนใจทีหลัง” นี้ อาจมีความยุ่งยากอยู่บ้าง คือ หากพ้นกำหนดยื่นแบบภาษีประจำปีแล้ว จะต้องยื่นแบบเพิ่มเติมแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น (ไม่สามารถยื่นออนไลน์ได้) โดยต้องทำเรื่องขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดยื่นแบบภาษีประจำปีนั้น ๆ และอาจต้องเตรียมเอกสารหลักฐานสำหรับแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ ควรวางแผน คำนวณความคุ้มค่า และตัดสินใจรวม-ไม่รวมคำนวณภาษีตั้งแต่ก่อนยื่นแบบ หรือหากไม่แน่ใจ ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (3) (4), 50 (2) (ข) (ค) (จ) (5), 63
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 18/2533, 19/2533, 20/2533, 21/2533
หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811 (กม.03)/1675 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543
#FinalTax #คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร #SiamWealthManagement #VinayaChy
コメント