top of page

Credit Card = บัตรแทนเงินสด จริงหรือ?


วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ก็มาถึงอีกครั้งแล้วนะครับ พูดถึงภาษาไทยแล้ว ถ้ายังจำกันได้ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในโลกโซเชียลก็คือ เรื่องที่หนังสือ ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสภา เล่ม 2 บัญญัติศัพท์สำหรับใช้แทนคำว่า Credit Card (บัตรเครดิต) ว่า “บัตรแทนเงินสด” ส่วนคำว่า Debit Card (บัตรเดบิต) ให้ใช้คำว่า “บัตรหักบัญชี” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำว่า “บัตรแทนเงินสด” ไม่สะท้อนลักษณะและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบัตรเครดิต ควรเรียกว่า “บัตรสินเชื่อ” หรือ “บัตรเงินเชื่อ” จะเหมาะสมมากกว่า (หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่เพิ่งมาเป็นกระแสไม่นานมานี้ครับ)


ทำไม Credit Card ถึงเป็น “บัตรแทนเงินสด”?

แม้ว่าบัตรเครดิตจะถือเป็นสินเชื่อชนิดหนึ่ง แต่คณะกรรมการประมวลศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ คงจะพิจารณาถึงการที่คนส่วนใหญ่พกและใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดจริง ๆ เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย ถือเป็นวิธีบริหารเงินสดในมืออีกวิธีหนึ่ง รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามที่สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเสนอให้ เช่น ส่วนลดค่าอาหาร ส่วนลดค่าเดินทาง ฯลฯ และเป็นการเลื่อนภาระการชำระเงินไปภายหลังสรุปยอดใช้จ่ายรายเดือน (คล้ายบริการโทรศัพท์ Post-paid) แต่สิ่งที่อันตรายอย่างมากในการใช้บัตรเครดิตก็คือ หากผู้ถือบัตรเอาแต่ใช้บัตรโดยขาดความยั้งคิด (ด้วยความคิดที่ว่า “นี่แหละ! ‘บัตรแทนเงินสด’”) จนเกินกำลังในการชำระเต็มยอด แล้วชำระเพียงบางส่วนหรือขั้นต่ำ รวมถึงการกดเบิกเงินสดล่วงหน้า สถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงตั้งแต่วันที่รูดบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ หรือวันที่กดเบิกเงินสด และหากเดือนถัดไปยังคงชำระไม่เต็มยอด ดอกเบี้ยก็จะพอกพูนมากยิ่งขึ้น จนอาจถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุด


แล้ว บัตรแทนเงินสด = Credit Card หรือ Debit Card กันแน่?

ความเห็นของชาวโซเชียลส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นไปในทางที่ว่า “บัตรแทนเงินสด” น่าจะตรงกับลักษณะของบัตรเดบิตมากกว่า แต่เหตุที่คณะกรรมการประมวลศัพท์ฯ กำหนดให้เรียกว่า “บัตรหักบัญชี” คงจะเป็นเพราะว่าบัตรนี้จะต้องผูกกับบัญชีเงินฝาก และเมื่อรูดบัตรก็จะหักเงินในบัญชีออกทันที ดังนั้นผู้ถือบัตรจะใช้เงินได้เท่าที่มีในบัญชีเท่านั้น (คล้ายบริการโทรศัพท์ Pre-paid) โดยเฉพาะปัจจุบันมีการผนวกคุณลักษณะดังกล่าวนี้เข้ากับบัตร ATM ของหลาย ๆ ธนาคารด้วย ก็ยิ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บัตร ATM มากขึ้นไปอีก


สรุป

ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตต่างก็เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แต่บัตรทั้งสองประเภทมีความแตกต่างที่เวลาที่เกิดภาระในการชำระเงิน โดยบัตรเดบิตจะหักเงินในบัญชีทันทีที่ใช้จ่าย แต่บัตรเครดิตจะสรุปยอดใช้จ่ายเป็นรายเดือน และให้เวลาชำระเงินอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น คนที่จะใช้บัตรเครดิตได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ก็ต้องมีวินัยในการใช้เงินอย่างเคร่งครัด มีสติ คิดก่อนใช้บัตร รวมถึงชำระเงินเต็มยอดและตรงเวลาทุกครั้ง บัตรเครดิตจึงจะเป็น “บัตรแทนเงินสด” สมชื่อ มิฉะนั้นแล้วยอดหนี้คงค้างเพียงเล็กน้อยก็อาจบานปลายกลายเป็นหนี้ก้อนโตได้เหมือนเช่นไฟและศัตรู ดังบทโคลงจาก โลกนีติไตรพากย์ ที่ว่า


อิณเสโส อคฺคิเสโส สตฺรุเสโส ตเถว จ

ปุนปฺปุนํ วิวฑฺฒนฺติ ตสฺมา เสสํ น การเย

เศษหนี้เศษไฟไว้ เหลือฟืน

เศษศัตรูยังยืน เช่นเชื้อ

จักเจริญสืบวันคืน ใหญ่ยิ่ง

สามสิ่งอย่ารั้งเรื้อ เศษน้อยจงศูนย์


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


399 views0 comments
bottom of page