top of page

พุทธศาสนสุภาษิตกับการวางแผนการเงิน


พุทธศาสนิกชนต่างคุ้นเคยกับพุทธศาสนสุภาษิตบทต่าง ๆ ทั้งจากการแสดงพระธรรมเทศนา หรือตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ แต่ผู้คนในสมัยนี้อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก หรืออย่างหัวข้อของเรื่องนี้ บางคนแม้แต่คิดว่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินได้ วันนี้เรามาหาคำตอบว่า พุทธศาสนสุภาษิตสอนพวกเราเกี่ยวกับการวางแผนการเงินไว้อย่างไรบ้างดีกว่าครับ...


อตฺตทตฺถมภิญฺญาย พึงกำหนดเป้าหมายของตนให้ชัด

จุดเริ่มต้นสำคัญของการวางแผนการเงินก็คือ การกำหนดเป้าหมายในชีวิต บางคนอาจมีเป้าหมายหลายด้าน เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ การศึกษาของบุตร ในขณะที่บางคนอาจมีเป้าหมายเพียงไม่กี่ข้อ เป้าหมายเหล่านี้จะนำไปสู่จำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อบรรลุแต่ละเป้าหมาย โดยเป้าหมายที่เหมาะสมสามารถพิจารณาตามหลัก SMART ได้แก่ S-Specific มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง M-Measurable สามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ A-Achievable สามารถบรรลุได้ ไม่ยากเกินไปและไม่ง่ายเกินไป R-Realistic อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ และ T-Timely มีกำหนดเวลาที่แน่นอนโดยที่ยังสามารถปฏิบัติได้


หิยฺโยติ หิยฺยติ โปโส คนผัดวันประกันพรุ่ง มีแต่จะเสื่อม

เมื่อกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้ชัดเจนแล้ว จะทำให้เรารู้ว่าต้องมีเงินเท่าใดจึงจะบรรลุแต่ละเป้าหมาย ถึงตรงนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การมีวินัยในการออมและการลงทุนตามแผนปฏิบัติการ ดังคำกล่าวที่ว่า ออมก่อนรวยกว่า หากเราเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่ง โดยคิดว่าไว้เริ่มออมเงินวันหลังดีกว่า ก็จะทำให้เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามหลัก Time Value of Money หรือมูลค่าของเงินตามเวลา ที่ว่า เงินจำนวนเดียวกันในปัจจุบันย่อมมีค่ามากกว่าในอนาคต เพราะเงินในปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยได้ โดยเฉพาะการลงทุนในระยะยาว ผลตอบแทนที่ทบต้นจะมีพลังมหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนเริ่มแรกอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว


อนิสมฺม กตํ กมฺมํ จินฺติตํ ทำการงานที่ไม่พินิจพิจารณา ย่อมเกิดผลเสีย

ในการวางแผนการลงทุน จำเป็นต้องอาศัยการพินิจพิจารณาทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท ทั้งสองสิ่งมักจะมีระดับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ผู้ลงทุนย่อมคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลายประเภท ดังคำกล่าวที่ว่า Don’t put all your eggs in one basket. (อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว) เพราะหากเราทำตะกร้าหล่น ไข่ก็จะแตกทั้งหมด เปรียบได้กับเงินลงทุนที่ลดลงอย่างมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ (Risk Tolerance) และความสำคัญของเป้าหมายที่ต้องการลงทุนด้วย


รกฺเขยฺยานาคตํ ภยํ พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึง

นอกเหนือจากแผนการออมและการลงทุนแล้ว เราก็ไม่ควรลืมที่จะวางแผนบริหารความเสี่ยงด้วย เพราะชีวิตของคนเราต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ทั้งความเสี่ยงต่อชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ โดยเราต้องประเมินโอกาสเกิดและผลกระทบของความเสี่ยงแต่ละด้าน แล้วเลือกใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับภัยที่มีโอกาสเกิดน้อยและผลกระทบไม่รุนแรงมาก เราอาจรับความเสี่ยงไว้เองได้ แต่หากเป็นภัยที่มีผลกระทบรุนแรง ก็ควรใช้วิธีโอนความเสี่ยง เช่น การทำประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย และถ้าเป็นภัยที่มีโอกาสเกิดได้ง่าย อาจจะต้องหาทางบรรเทาผลกระทบ หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านนั้น


อนาคตํ ปฏิกยิราถ กิจฺจํ จงเตรียมการสำหรับอนาคตไว้ให้พร้อม

คนในวัยเพิ่งเริ่มทำงานอาจไม่ได้คำนึงถึงอนาคตมากนัก โดยเฉพาะวันที่ตนเองต้องเกษียณจากการทำงาน เพราะคิดว่ายังเป็นเวลาอีกยาวไกล ทั้งที่จริงแล้ว ชีวิตหลังเกษียณก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บางรายการอาจมากกว่าวัยหนุ่มสาวด้วยซ้ำ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ยิ่งอายุขัยเฉลี่ยของคนเรามีแนวโน้มยืนยาวมากขึ้นในอนาคต เงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการเกษียณก็มากขึ้นตาม เราจึงควรออมเงินเพื่อการเกษียณผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) (สำหรับหน่วยงานราชการ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับภาคเอกชน) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) (สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ) กองทุนประกันสังคม หรือแม้แต่การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)


น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ เมื่อตาย ทรัพย์สักนิดก็ติดตามไปไม่ได้

ไม่ว่าเราจะเป็นใคร สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป ทรัพย์สินที่เคยเป็นของเราก็ไม่สามารถติดตัวไปได้ การวางแผนการจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิตและการวางแผนมรดก จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราสบายใจว่าความมั่งคั่งของเราได้ถูกส่งต่อไปยังบุคคลในครอบครัวตามความประสงค์ ตัวช่วยสำคัญก็คือ พินัยกรรม หากเราไม่ทำพินัยกรรม ทรัพย์มรดกก็จะตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม การส่งมอบทรัพย์สินขณะมีชีวิตกับการตกทอดทางมรดกจะมีผลต่อภาระภาษีของผู้ได้รับทรัพย์สินแตกต่างกัน คือภาษีการรับให้ และภาษีการรับมรดก เราจึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่เราต้องการส่งต่อความมั่งคั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย


อตฺถมฺหิ ชาตมฺหิ สุขา สหายา เมื่อความต้องการเกิดขึ้น สหายเป็นผู้นำสุขมาให้

จากที่ได้เล่ามาข้างต้น หลายคนอาจคิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะมีหลายเรื่องให้คำนึงถึง และการจะบรรลุเป้าหมายแต่ละด้านก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่ใช่น้อย เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลไปครับ บรรดานักวางแผนการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพทางการเงินอื่น ๆ ทั้งผู้แนะนำการลงทุน ตัวแทนประกันชีวิต ที่ปรึกษาด้านการวางแผนภาษี ฯลฯ ยินดีที่จะเป็น “เพื่อนร่วมทาง” พาผู้รับคำปรึกษาทุกคนที่ต้องการวางแผนชีวิตให้ตนเองและครอบครัว เดินทางไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยินดีที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ไม่จำกัดแต่เพียงเรื่องการเงินเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้นี่เอง คือ “ความสุข” ที่เหล่า “เพื่อน” ต้องการมอบให้ผู้รับคำปรึกษา


แม้ว่าพุทธศาสนสุภาษิตจะมีอายุมากกว่า 2,500 ปีแล้ว ทว่ายังคงคุณค่าสำหรับการปรับมุมมองความคิดและนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงการวางแผนการเงินในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่า สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ ธรรมะไม่มีล้าสมัย นั่นเองครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


4,996 views0 comments

Comments


bottom of page