ไตรมาสที่ 4 ของปีก็เวียนมาถึงอีกครั้งแล้วนะครับ ช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเป็น “เวลาทอง” สำหรับการจับจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษียณยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งค่าซื้อกองทุนรวมทั้งสองประเภท รวมถึงเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จะให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สูงสุด 500,000 บาท แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจก็คือ ฐานที่ใช้คำนวณสิทธิในการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ผมจะพาไปทำความเข้าใจกันครับ...
ฐานในการคำนวณสิทธิซื้อ SSF/RMF เป็นอย่างไร
เนื่องจาก SSF/RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี สิทธิในการซื้อจึงคำนวณจาก “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” โดย SSF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของฐานดังกล่าวแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และ RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของฐานดังกล่าวแต่ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (หลังใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาทแรกเต็มแล้ว) จะลดหย่อนได้อีก 15% ของฐานดังกล่าวแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
แล้วเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จะคำนวณเป็นฐานได้ไหม?
เพื่อให้ทำความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ในการอธิบายผมขอแบ่งเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีออกเป็น 4 กลุ่มนะครับ
กลุ่มที่ 1 เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีโดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น คุณจะไม่สามารถนำเงินได้เหล่านี้มารวมเป็นฐานในการคำนวณครับ เช่น เงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน เงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำไรจากการขายกองทุนรวมทั่วไป (รวมถึง LTF ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2563)
กลุ่มที่ 2 เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีโดยมีเงื่อนไข อย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรณีเลยครับว่าเงินได้ของคุณเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขก็ไม่สามารถรวมเป็นฐานในการคำนวณได้ เช่น
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าได้รับเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่ถ้าได้รับในกรณีอื่นก็สามารถรวมเป็นฐานได้
ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ที่ไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับยกเว้นเฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท เฉพาะส่วนนี้ไม่สามารถรวมเป็นฐานได้
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ รวมทุกธนาคาร ทุกบัญชี ถ้าได้รับไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษี จะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตั้งแต่บาทแรก กรณีหลังนี้สามารถรวมเป็นฐานได้
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีขึ้นไป ที่ได้รับเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี หรือดอกเบี้ยเงินฝากแบบผูกพันระยะยาวรายเดือนไม่น้อยกว่า 24 เดือน ฝากเดือนละไม่เกิน 25,000 บาท หากปฏิบัติถูกเงื่อนไขครบถ้วน จะได้รับยกเว้นภาษี และไม่สามารถรวมเป็นฐานได้ แต่หากปฏิบัติผิดเงื่อนไขจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงสามารถรวมเป็นฐานได้
กำไรจากการขาย SSF/RMF (รวมถึง LTF ที่ซื้อก่อนปี 2563) หากปฏิบัติถูกเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษี ก็จะไม่สามารถรวมเป็นฐานได้ แต่หากปฏิบัติผิดเงื่อนไขจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็สามารถนำกำไรมารวมเป็นฐานได้
กลุ่มที่ 3 เงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น (หรือที่เรียกว่าเป็น Final Tax) ซึ่งเกิดจากการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ถือได้ว่ามีการเสียภาษีแล้ว คุณจึงสามารถนำเงินได้เหล่านี้มารวมเป็นฐานในการคำนวณ ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจถือเป็น Final Tax หรือไม่ เช่น ดอกเบี้ยและเงินปันผลกรณีทั่วไป เงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป ซึ่งสำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีกลุ่มนี้ ผมขอให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ข้อครับ
เงินได้กลุ่มนี้จะมีบางกรณีเข้าข่ายกลุ่มที่ 2 ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย จึงต้องพิจารณาเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีของเงินได้นั้น ๆ ด้วย
หากคุณต้องการนำเงินได้กลุ่มนี้มารวมเป็นฐาน ต้องระบุจำนวนเงินดังกล่าวไว้ที่ข้อ 10 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือท้ายแบบ ภ.ง.ด. 91 ด้วย (ยกเว้นค่าขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ที่เลือกถือเป็น Final Tax โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องกรอกในข้อ 8 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 และเงินได้จากการรับให้ ที่เลือกถือเป็น Final Tax ต้องกรอกในข้อ 9 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 อยู่แล้ว)
สำหรับเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสัญชาติไทยนั้น เฉพาะกรณีที่คุณเลือกนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น (ไม่ถือเป็น Final Tax) จะได้รับเครดิตภาษี ซึ่งคำนวณจาก เงินปันผล x [อัตราภาษีนิติบุคคล / (100 - อัตราภาษีนิติบุคคล)] เช่น ได้รับเงินปันผล 500 บาท จากบริษัทที่เสียภาษีในอัตรา 20% เครดิตภาษีจะเท่ากับ 500 x [20 / (100 - 20)] = 125 บาท โดยเครดิตภาษีนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย จึงนำไปรวมเป็นฐานได้ด้วย แต่หากถือเป็น Final Tax ไปแล้ว เฉพาะเงินปันผลเท่านั้นที่จะนำมารวมเป็นฐานได้ จะไม่สามารถนำเครดิตภาษีดังกล่าวมารวมด้วย
กลุ่มที่ 4 เงินได้ที่ได้รับยกเว้นหลังหักค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่ายกเว้นเงินได้เสมือนหักลดหย่อน เงินได้ในกลุ่มนี้จะไม่มีผลต่อการคำนวณฐานแต่อย่างใด เช่น เบี้ยประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน เบี้ยประกันสุขภาพตนเองและบิดามารดา ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร เงินบริจาค รวมถึงการได้รับยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้พิการด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ การซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษียณนั้น ควรคำนึงถึงเป้าหมายเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อใช้ในวัยเกษียณเป็นเรื่องหลัก ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเรื่องรอง โดยเฉพาะ SSF/RMF ที่มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ก็ต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้แผนเกษียณของคุณประสบความสำเร็จนั่นเองครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บทนิยามคำว่า “เงินได้พึงประเมิน”, 42 (8) (ก) (11), 47 (1) (ง) (ช) (ซ) (7), 47 ทวิ, 48 (3) (5)
พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 34
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 มาตรา 4
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23) (32) (36) (38) (51) (53) (55) (61) (65) (67) (69) (72) (76) (81) (91) (97) (99) (102) (103)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ฯ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
#SSF #SuperSavingsFund #กองทุนรวมเพื่อการออม #RMF #RetirementMutualFund #กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ #ประกันชีวิตแบบบำนาญ #SiamWealthManagement #VinayaChy
תגובות