จากคราวที่แล้วที่ได้นำเสนอเกี่ยวครับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว ใน บทความก่อน คราวนี้เลยอยากจะลองกับข้อมูลผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และเป็นเครื่องมือหลักที่นิยมใช้ในการออมและลงทุนของทั้งภาคประชาชน เอกชน และสถาบันต่าง ๆ
แต่ก่อนอื่น อยากจะให้ผู้อ่านได้ทบทวนทำความเข้าใจตลาดตราสารหนี้กันอีกสักรอบ
ตราสารหนี้ คือตราสารทางการเงินที่ผู้ลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ (เป็นผู้ปล่อยกู้นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากหุ้นหรือตราสารทุนที่ผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าของร่วม) และจะเป็นเจ้าหนี้ใคร ปล่อยกู้ใครนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกหนี้ (หรือผู้ออกตราสาร) เป็นใครด้วย ซึ่งถ้าลูกหนี้เป็นรัฐบาล หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ก็จะเรียกตราสารหนี้ที่เป็นหลักฐานการปล่อยกู้นั้นว่า “พันธบัตร” ส่วนถ้าลูกหนี้เป็นบริษัทมหาชน ก็จะเรียกตราสารหนี้นั้นว่า “หุ้นกู้”
แล้วขนาดของตลาดตราสารหนี้ไทยใหญ่แค่ไหนกัน? จากข้อมูลล่าสุด มูลค่าตลาดตราสารหนี้ในไทย (มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย) ณ สิ้นเดือน มีนาคม ค.ศ. 2020 มีอยู่ถึง 13.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
ตราสารหนี้ภาครัฐ ราว 9.4 ล้านล้านบาท
ตราสารหนี้ภาคเอกชน ราว 3.6 ล้านล้านบาท
และส่วนที่เหลือคือหุ้นกู้ต่างประเทศ ราว 0.2 ล้านล้านบาท
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หากจะลองเปรียบเทียบกับตลาดรองของตราสารทุน มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ที่ 12.1 ล้านล้านบาท
และสำหรับตราสารหนี้เอง ก็มีดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดและติดตามความเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตราสารหนี้ในตลาดรอง ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (หรือ Thai BMA) ได้จัดทำขึ้นมา ซึ่งถ้าจะทำให้เห็นภาพของผลตอบแทนรวมที่เกิดขึ้นจากตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกันทั้งหมดทุกรุ่นทุกอายุ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธปท. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน จึงควรต้องพิจารณาดูจากสถิติของ Total Return Composite Bond Index ที่เป็นดัชนีที่สะท้อนผลตอบแทนรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในตราสารหนี้ ณ วันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนมาคำนวณเป็นผลตอบแทนจากการถือครองตราสารหนี้ไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่ถือครอง (หรือ Holding Period Return, HPR) ซึ่งรวมเอาผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาตราสารหนี้ (Capital Gain) และส่วนของดอกเบี้ย (Interest) ของตราสารหนี้ทั้งตลาดไว้แล้ว
เช่นเดียวกันกับบทความก่อนหน้า วิธีการอ่านและดูรูปนี้ก็จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือตารางด้านบน ที่บอกระดับผลตอบแทนรวมจากการถือครองตราสารหนี้ไทยด้วย Thai BMA’s Composite Bond TRI โดยแกนนอนสีน้ำเงินคือช่วงเวลาที่เข้าสู่ตลาด (สมมติฐานคือว่าเข้าซื้อตราสารหนี้ทั้งตลาด) และแกนตั้งสีส้มคือช่วงเวลาที่ออกจากตลาด (สมมติฐานคือว่าขายตราสารหนี้หมดพอร์ต) และสีในตารางแต่ละช่อง ก็แสดงถึงอัตราผลตอบแทนตลอดช่วงระยะเวลาที่ถือครอง (HPR ของ Composite Bond TRI) ว่ามีมากน้อยแค่ไหนตามสเกลที่ได้ระบุไว้ และส่วนที่สองคือกราฟเส้นด้านล่าง ที่เอาดัชนี Thai BMA’s Composite Bond TRI (เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนราคาและดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (เส้นสีส้ม) ซึ่งถูกใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง มาวางเพื่อเทียบเคียงช่วงเวลากับตารางด้านบน และเพื่อให้สามารถเทียบเคียงช่วงเวลาเดียวกันกับการลงทุนในหุ้นไทยจากสถิติในบทความก่อนหน้านี้ได้ด้วย จึงใช้กรอบเวลาเดียวกันในการอธิบาย (มกราคม ค.ศ. 2007 ถึง มีนาคม ค.ศ. 2020)
ทำให้จากสถิติผลตอบแทนรวมจากตลาดตราสารหนี้ในภาพรวม ผมก็ขอสรุปออกมาเป็นข้อคิดเห็นและข้อสังเกตทั้ง 7 ข้อได้ดังนี้
#ข้อที่1 ตราสารหนี้แม้จะมีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากสถานะความเป็นเจ้าหนี้ตามลักษณะสัญญากู้ยืมเงิน แต่ผลตอบแทนก็ไม่ได้สูงมาก โดยในช่วงระยะเวลาที่พิจารณานี้ ไม่ว่าคุณจะเข้าซื้อตราสารหนี้หรือขายออกในช่วงเวลาไหน ไม่ว่าจะถือสั้นหรือถือยาวแค่ไหนก็ตาม เฉลี่ย ๆ แล้วก็จะมีโอกาสอยู่ราว ๆ
3% ที่คุณจะไม่ได้กำไรอะไรเลย เพราะขาดทุนจากการลงทุน (ลงทุนตราสารหนี้ เป็นเจ้าหนี้ ก็ขาดทุนได้เช่นกัน)
56% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 1-1.25 บาท
29% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 1.25-1.5 บาท
10% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 1.5-1.75 บาท
2% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 1.75-2 บาท
0.02% ที่จะได้กำไรเกินเท่าตัวเงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็นมากกว่า 2 บาท
ในตารางด้านบน หากนำไปเทียบกับตารางของหุ้นไทยแล้ว จะพบว่าลักษณะความผันผวนของผลตอบแทนที่เกิดขึ้น และโอกาสที่จะได้กำไรหรือขาดทุนนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับหุ้นไทยนั้นเนื่องจากตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง หากนักลงทุนต้องการลดโอกาสในการขาดทุนลง (หุ้นไทยมีโอกาสราว 9% ที่จะขาดทุนไม่ว่าจะถือนานแค่ไหนก็ตาม) จะต้องลงทุนในระยะยาวขึ้นเพื่อช่วยลดความผันผวน แต่สำหรับตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำกว่าแล้ว โอกาสในการขาดทุนจึงน้อยกว่า และสามารถลงทุนในระยะที่สั้นกว่าโดยคาดหวังผลตอบแทนเป็นบวกได้ โดยระยะเวลานานที่สุดที่การลงทุนในตราสารหนี้จะขาดทุนนั้นใช้เวลาแค่ 1 ปีกับอีก 6 เดือน
#ข้อที่2 หากต้องการทำให้เงินลงทุน 1 บาทของคุณที่ลงทุนไป กลายเป็น 2 บาทหรือมากกว่าด้วยตราสารหนี้ จะต้องใช้เวลากว่า 13 ปี ซึ่งแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าตราสารทุนแบบในโพสต์เดิมที่ยกตัวอย่างไว้ (ตลาดหุ้นไทยใช้ระยะเวลาที่เร็วที่สุดแค่ 1 ปีกับอีก 4 เดือน ในการเปลี่ยนเงิน 1 บาทเป็น 2 บาท) แต่ความผันผวนนั้นต่ำกว่ามาก และเรียกได้ว่าจากข้อมูลย้อนหลังชุดนี้ แทบไม่มีโอกาสในการขาดทุนเลยหากถือไว้ในระยะเวลาที่ยาวนาน (โอกาสที่จะขาดทุนจากตลาดตราสารหนี้ เกิดขึ้นเพราะลงทุนไม่ถึง 2 ปี) แต่ด้วยอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ ก็จะทำให้เสียโอกาสในการหาผลตอบแทนที่มากขึ้นในระยะยาว ดังนั้น ด้วยข้อดีของการที่โอกาสขาดทุนมีน้อยในระยะเวลาการลงทุนที่สั้น และมีผลตอบแทนที่ไม่ได้ต่ำมากจนไม่น่าสนใจ (อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4-5%) ตราสารหนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ผู้แนะนำการลงทุนมักนำเสนอเป็นสัดส่วนใหญ่สำหรับพอร์ตการลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อเก็บออมระยะสั้น หรือการลงทุนเพื่อเพิ่มการปกป้องเงินต้น
#ข้อที่3 1 ปีกับ 3 เดือน คือระยะเวลายาวนานที่สุดที่นักลงทุนจะอยู่ในช่วงเวลาที่ตลาดตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งการขาดทุนนั้น แม้ว่ามันจะขัดกับความรู้สึกบางคนที่ว่า “เป็นเจ้าหนี้ ขาดทุนได้ยังไง?” แต่คำอธิบายง่าย ๆ สำหรับการขาดทุนในตลาดตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ มันก็มีทั้งผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาตราสารหนี้ (Capital Gain) และส่วนของดอกเบี้ย (Interest) รวมอยู่ด้วย ซึ่งผลตอบแทนจากส่วนต่างราคานี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ได้ และเป็นผลมาจากค่า Duration หรืออายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ทั้งหมดถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินสด และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในตลาด (แนะนำให้อ่านศึกษากลไกของ Duration และอัตราดอกเบี้ย ต่อราคาตราสารหนี้ จากบทความนี้)
#ข้อที่4 ตลาดตราสารหนี้ อาจจะไม่เหมือนกันตลาดตราสารทุนอีกแง่มุมนึงก็ตรงที่ รอบหรือวัฏจักรของตลาด อาจจะยาวนานได้กว่าระยะเวลาเกิดขึ้นกับวัฏจักรของธุรกิจและวัฏจักรของตลาดหุ้น จนจุดสูงสุด-ต่ำสุด ของตลาดหรือ Peak & Trough อาจจะไม่สามารถมองเห็นได้ในกรอบระยะเวลาไม่กี่สิบปี ทำให้ในระยะที่สั้นมาก(อย่างที่ยกตัวอย่างมาในรูปนี้) อาจจะดูเป็นการที่ตลาดตราสารหนี้นั้นไม่ได้วิ่งเป็นวัฏจักร มีแต่จะวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามมูลค่าตราสารที่ออกมาสู่ตลาด ด้วยความผันผวนบ้างเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง มันอาจจะเป็นแค่เส้นตรงช่วงนึงที่เป็นส่วนของเส้นโค้งในวัฏจักรที่ยาวนานกว่านั้นเอง จนทำให้การเล่นรอบ เก็งกำไรจุดต่ำสุด-สูงสุดเพื่อจับจังหวะซื้อขายเพื่อหาผลตอบแทนมาก ๆ ในตลาดตราสารหนี้ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะทำได้ยากกว่าตลาดหุ้นเยอะ (ซึ่งการเก็งกำไรนั้นอาจทำได้จากการวิเคราะห์ตลาด เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย การวิเคราะห์อัตราค่า Duration ของตราสาร การวิเคราะห์การเปลี่ยนระดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต ฯลฯ)
#ข้อที่5 สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย ตลอดช่วง 159 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีกว่า 48 เดือนที่ Thai BMA’s Composite Bond TRI มีผลตอบแทนรายเดือนติดลบ นั่นหมายความว่า ในระยะสั้น (ในเวลาไม่ถึงเดือน) มีโอกาสราว 30% ที่คุณจะขาดทุน แต่สามารถลดโอกาสตรงนี้ลงได้ด้วยการลงทุนในระยะเวลาที่ยาวขึ้น เพราะโดยเฉลี่ย ๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือออกจากตลาดตอนช่วงเวลาไหน ก็จะมีโอกาสอยู่ราว ๆ
18% ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนไม่ถึง 1 ปี
1% ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนนานกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี
และแทบไม่มีโอกาสขาดทุนแล้ว (จากสถิติย้อนหลัง) หากคุณลงทุนนานมากกว่า 2 ปี ขึ้นไป
จะเห็นได้ว่า ตราสารหนี้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสมสำหรับพอร์ตการลงทุนระยะสั้นถึงปานกลางได้เป็นอย่างดี แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่ได้มากนัก แต่หากจะต้องวางแผนการลงทุน เพื่อเป้าหมายที่มีความสำคัญมาก ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่สั้น ตราสารหนี้ก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น และใช้ผลตอบแทนจากการลงทุนในการช่วยเก็บและออม
#ข้อที่6 ไม่ว่าจะเริ่มต้นลงทุนในตราสารหนี้ช่วงเดือนไหน จะต้นปี กลางปี ท้ายปี โอกาสขาดทุนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก อยู่ที่ราว ๆ 2-3% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในข้อแรก และมันลดโอกาสขาดทุนลงได้อีกอยู่แล้วจากการลงทุนในระยะเวลาที่ และเช่นกัน ก็ยังคงแนะนำว่า สามารถที่จะเฉลี่ยลงทุนเพื่อเอาราคาเฉลี่ยของทั้งปีไปเลย (แบบที่เรียกกันว่า DCA นั่นแหละครับ) จะได้ไม่ต้องทนปวดหัวกับการจับจังหวะ หรือจะลงทุนด้วยเงินก้อน ณ วันที่เริ่มต้นลงทุน (แบบที่เรียกกันว่า Lump-Sum น่ะครับ) ไปเลยทีเดียว เพื่อให้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
#ข้อที่7 เช่นเดียวกับตราสารทุนในโพสต์ก่อน ในสถิติข้างต้นนี้ พิจารณาเฉพาะกรณีผลตอบแทนรวมที่มีการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทุกประเภททั้งตลาดรอง ความหมายก็คือว่า ความเสี่ยงเดียวที่นักลงทุนเจอ ก็คือความเสี่ยงของตลาดที่เป็นระบบ (Systematic Risk) ที่ไม่ว่าตราสารหนี้ตัวไหนก็มีโอกาสเจอเหมือน ๆ กัน (ตัวอย่างเช่น ทิศทางดอกเบี้ยในตลาด) ซึ่งถ้าหากว่านักลงทุน ไม่มีการกระจายการลงทุนที่ดีเพื่อกระจายความเสี่ยงเฉพาะตัวของตราสารหนี้แต่ละตัว (Specific Risk) ออกไปแล้ว หรือไปลงทุนตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความเสี่ยงให้อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช่เกรดสำหรับเพื่อลงทุน (อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของบริษัทหรือหน่วยงานผู้ออกตราสาร ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งตราสารหนี้พวกนี้มักจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากขึ้น) ผลตอบแทนรวมที่ได้ในความเป็นจริงของนักลงทุน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าจากสถิติที่แสดงให้เห็นในรูป และแน่นอนว่า พอร์ตการลงทุนที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ก็อาจจะต้องพบเจอกับความผันผวนในระดับที่รุนแรงแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่เว้นแม้แต่ตราสารหนี้เช่นกัน
จากข้อคิดเห็นและข้อสังเกตข้างบนนี้ อาจจะพอช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงของตลาดตราสารหนี้ ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงนำไปประกอบกับพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ หลังจากนี้ไปในอนาคต นอกเหนือไปจากปัจจัยความเสี่ยงที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็อาจจะต้องพิจารณาความเสี่ยงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยในตลาดหลังจากนี้ที่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำไปอีกนาน และผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐออกมาเพิ่ม อย่างเช่น กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund - BSF) ด้วยเช่นกันนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
อ่านเพิ่มเติม
ดาวน์โหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่
Commentaires