top of page

7 ข้อคิดเห็นและข้อสังเกต กับภาวะตลาดกระทิงรอบล่าสุดในหุ้นไทย

Updated: Apr 7, 2020


https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Stock_Bull.jpg
ที่มาของภาพประกอบ: wikimedia.org

นับตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งมหาวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกครั้งล่าสุดในช่วง ค.ศ. 2007-2008 (ที่เรารู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis) เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็เติบโตขึ้นมาในคลื่นลูกใหม่ ในภาวะตลาดกระทิงที่วิ่งต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี สร้างเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ ขยายพอร์ตให้เศรษฐีหุ้นรุ่นเก๋า และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักลงทุนมากมายที่แสวงหาผลตอบแทนในระดับที่สูง ให้เข้ามาสู่ตลาดทุนไทย

แต่ตลาดกระทิงที่ว่ามานี้ ก็เพิ่งจะจบรอบไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ดังที่เราเห็นกันอยู่ตามข่าวก่อนหน้านี้

เพื่อแสดงให้เห็นภาพของคลื่นกระทิงลูกนี้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดกับนักลงทุนหน้าใหม่ในคลื่นลูกที่ผ่านมา (หรือหน้าเก่าที่วนเวียนกลับเข้าสู่สนามกันอีกรอบหรือหลายรอบ) ไว้เป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจจะ “เข้า” สู่ตลาด ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุน ที่ทำให้ราคาหลักทรัพย์นั้น ลดลงมาจนอยู่ในระดับที่หลายคนเริ่มอยากจะเข้ามาลงทุน จึงนำเอาสถิติผลตอบแทนจากการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่ถือครอง (หรือ Holding Period Return, HPR) ที่ใช้ราคาปิด ณ วันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนมาคำนวณ ไม่ว่าจะเข้าหรือออกช่วงไหนของภาวะตลาด โดยใช้ตัวแทนเป็นอัตราผลตอบแทนของ SET Total Return Index (SET TRI) ที่รวมเอาผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend) ของหุ้นทั้งตลาดไว้แล้วมาใช้อธิบาย



ก่อนอื่น ขอแนะนำวิธีการอ่านและดูรูปนี้สักเล็กน้อย (เนื่องจากเป็นรูปที่อาจไม่เห็นได้บ่อยทั่วไปนัก เป็นการทำขึ้นมาเฉพาะกิจ) ในรูปจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือตารางด้านบน ที่บอกระดับผลตอบแทนรวมจากการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย SET TRI โดยแกนนอนสีน้ำเงินคือช่วงเวลาที่เข้าสู่ตลาด (สมมติฐานคือว่าเข้าซื้อหุ้นทั้งตลาด) และแกนตั้งสีส้มคือช่วงเวลาที่ออกจากตลาด (สมมติฐานคือว่าขายหมดพอร์ต) และสีในตารางแต่ละช่อง ก็แสดงถึงอัตราผลตอบแทนตลอดช่วงระยะเวลาที่ถือครอง (HPR ของ SET TRI) ว่ามีมากน้อยแค่ไหนตามสเกลที่ได้ระบุไว้ และส่วนที่สองคือกราฟเส้นด้านล่าง ที่เอาดัชนี SET Total Return Index (เส้นสีน้ำเงิน) และดัชนี SET Index (เส้นสีส้ม) มาวางเพื่อเทียบเคียงช่วงเวลากับตารางด้านบน (ปรับปรุงให้ข้อมูลล่าสุดจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2020)

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเข้าสู่ตลาดในช่วงปลายของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน (ในช่วงท้ายปี ค.ศ. 2008) โดยซื้อหุ้นทั้งตลาด และถือมาโดยตลอดจนขายออกไปทั้งหมดในช่วงปี ค.ศ. 2018-2019 คุณจะได้รับผลตอบแทนของทั้งพอร์ตรวมกันในระดับที่มากกว่า 400% (เงินทุก ๆ 1 บาทของคุณ กลายเป็น 5 บาทหรือมากกว่านั้น) อะไรทำนองนั้น

ซึ่งจากสถิติผลตอบแทนรวมจากตลาดหุ้นในภาพรวม ผมก็ขอสรุปออกมาเป็นข้อคิดเห็นและข้อสังเกตทั้ง 7 ข้อได้ดังนี้

#ข้อที่1 ถ้ามองเฉพาะที่ผลกำไรจากการลงทุน นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ไม่ว่าคุณจะเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดในช่วงเวลาไหนของริ้วคลื่นตลาดกระทิง และไม่ว่าจะถือสั้นหรือถือยาวแค่ไหนก็ตาม เฉลี่ย ๆ แล้วก็จะมีโอกาสอยู่ราว ๆ

  • 9% ที่คุณจะไม่ได้กำไรอะไรเลย เพราะขาดทุนจากการลงทุน

  • 54% ที่จะพอมีกำไรบ้างเล็กน้อย เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาทจะยังโตได้ไม่ถึง 2 บาท

  • 22% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 2-3 บาท

  • 10% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 3-4 บาท

  • 3% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็น 4-5 บาท

  • 2% ที่เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะกลายเป็นมากกว่า 5 บาท

ตรงนี้อาจหมายความได้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ หากมีการซื้อขายเข้าออกในระหว่างตลาดกระทิง ราว ๆ ครึ่งหนึ่งก็พอจะมีกำไรได้บ้าง แต่อาจจะไม่ได้เยอะมากเป็นเท่าตัว และหากพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีที่ลงทุนมาแล้วไม่เคยขายออกเลย ถ้านับตั้งแต่เริ่มลงทุนมาจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา จะมีเพียงนักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มตลาดกระทิงใหม่ ๆ (ปีค.ศ. 2009-2010) ที่ยังมีผลตอบแทนมากกว่า 100% (เงินของคุณที่ลงทุนไป 1 บาท จะยังมีมูลค่าล่าสุดมากกว่า 2 บาท) และนักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนหลังจากต้นปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ก็น่าจะขาดทุนกันเกือบครบทุกคนแล้ว

#ข้อที่2 1 ปีกับอีก 4 เดือน เป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุด ที่คุณจะสามารถเข้าซื้อหุ้นทั้งตลาด แล้วทำให้เงิน 1 บาทของคุณที่ลงทุนไปกลายเป็น 2 บาทหรือมากกว่าได้ โดยจังหวะแบบนั้น เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลังจากผ่านพ้นวิกฤตไปแล้วและตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ขาขึ้นอย่างจริงจัง หมายความว่าคุณซื้อได้เกือบต่ำสุดนั่นเอง แต่ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าตลาดมันจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ ณ เวลานั้นคนส่วนมากยังกลัวว่าจะช้อนหักกันอยู่เลย และคุณก็อาจจะไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาดพร้อมกันอีกด้วย ทั้งนี้ ความเร็วที่จะได้รับผลตอบแทนแบบนั้นมาในอนาคตหลังจากนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับภาวะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลกระทบจากมาตรการฟื้นฟูที่มีต่อตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน

#ข้อที่3 2 ปีกับอีก 10 เดือน (หรือเกือบ 3 ปี) คือระยะเวลาที่เร็วที่สุด ที่คุณจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการขาดทุนย่อยยับท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วทำให้พอร์ตการลงทุนกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวิกฤตครั้งก่อน แต่ในวิกฤตครั้งปัจจุบันนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ ยาวนานแค่ไหน และลึกแค่ไหน จึงทำให้สถิตินี้ก็อาจจะถูกทำลายลงภายในวิกฤตครั้งนี้ (โดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้าสู่ตลาดในช่วงต้นปี ค.ศ. 2018 ที่ดัชนี SET Index ทำจุดสูงสุดตลอดกาลครั้งล่าสุด)

#ข้อที่4 คนที่ ‘ได้’ มากที่สุดสำหรับการเกาะคลื่นลูกนี้มา กวาดผลตอบแทนได้เยอะที่สุดในตลาดกระทิง จะเป็นคนที่เข้าสู่ตลาดในช่วงวิกฤต และต้องออกจากตลาดไปในช่วงเวลาเดียวกับที่ SET Index ทำจุดสูงสุดตลอดกาลครั้งล่าสุดเมื่อเกือบสองปีก่อน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่าตอนนั้นที่ตลาดขึ้นไปทำ All-Time High มันจะเป็นจุดสูงสุดของคลื่นลูกนี้ และเช่นกัน ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าตลาดมันจะถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ ณ เวลานั้นคนส่วนมากยังกลัวว่าจะขายหมูกันอยู่เลย

#ข้อที่5 แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หากคุณต้องการจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน โดยที่ไม่อยากขาดทุน การเก็งกำไรระยะสั้นอาจจะทำได้จริงแต่ก็ยากหน่อย เพราะในช่วง 159 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 58 เดือนที่ SET TRI มีผลตอบแทนรายเดือนติดลบ นั่นหมายความว่า การเก็งกำไรระยะสั้น (ในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน) มีโอกาสราว 36% (1 ใน 3) ที่คุณจะขาดทุน แต่ในทางกลับกัน สำหรับการลงทุนระยะยาวนั้น จะทำให้โอกาสในการขาดทุนของคุณจะยิ่งน้อยลงไป เมื่อระยะเวลายาวนานขึ้น เพราะโดยเฉลี่ย ๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือออกจากตลาดตอนช่วงเวลาไหนของตลาดกระทิงครั้งล่าสุดนี้ ก็จะมีโอกาสอยู่ราว ๆ

  • 33% ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนไม่ถึง 1 ปี

  • 23% ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนนานกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี

  • 9% ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนนานกว่า 2 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี

  • 1% และน้อยกว่านั้น ที่คุณจะขาดทุน หากคุณมีระยะเวลาการลงทุนนานกว่า 3 ปีแต่ไม่เกิน 8 ปี

  • และแทบไม่มีโอกาสขาดทุนแล้ว (จากสถิติย้อนหลัง) หากคุณลงทุนนานมากกว่า 8 ปี ขึ้นไป

ซึ่งนี่คือเหตุผลว่า ทำไมสินทรัพย์ที่มีลักษณะความเสี่ยงของผลตอบแทนที่สูง เฉกเช่นตราสารทุน(หุ้น) ควรจะต้องลงทุนในระยะยาว เช่น มากกว่า 7-8 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผลของความเสี่ยงและความผันผวนนั้นถูกเฉลี่ยไป แม้ว่าจะอยู่ในตลาดกระทิงหรือตลาดแบบไหนก็ตาม


สถิติผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ตามจำนวนปีที่ถือครองของ SET Total Return Index
สถิติผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ตามจำนวนปีที่ถือครองของ SET Total Return Index

#ข้อที่6 ช่วงเวลาที่เริ่มต้นลงทุน ไม่ว่าจะต้นปี กลางปี ท้ายปี หรือเดือนไหน ๆ โอกาสขาดทุนก็ไม่ได้แตกต่างกันมากหากลงทุนในระยะยาว ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ Sell in May and go away ” จนทำให้หลายคนพยายามที่จะจับจังหวะการลงทุนในเดือนที่ตลาดลงหนัก ๆ ในทางสถิติ (ซึ่งก็จริง โดยสถิติแล้ว เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่มีโอกาสขาดทุนมากกว่าเดือนอื่น ๆ หากเริ่มต้นลงทุนในเดือนนั้น แต่นั้นคือผลตอบแทนที่พิจารณาระยะเวลาลงทุนแค่เดือนเดียว) ซึ่งหากลงทุนระยะยาว โดยเริ่มต้นด้วยเดือนที่แตกต่างกัน โอกาสที่จะขาดทุนก็จะแกว่งอยู่ที่ราว ๆ 7-11% ที่จะขาดทุนระยะยาวไม่ว่าจะเริ่มจากเดือนไหนก็ตาม และจากสถิติในภาพรวมแล้ว ไม่ว่าคุณจะเริ่มเดือนไหน ถือยาวนานแค่ไหน เฉลี่ย ๆ แล้วก็จะมีโอกาสราว 9% ที่จะขาดทุน ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อแรก ทำให้อาจจะสามารถสรุปได้ว่า เริ่มตอนไหน ก็อาจจะต่างกันไม่มากเท่าไหร่ และถ้าไม่ได้ลำบากจนเกินไป ก็เฉลี่ยลงทุนเพื่อเอาราคาเฉลี่ยของทั้งปีไปเลย จะได้ไม่ต้องทนปวดหัวกับการจับจังหวะ


สถิติผลตอบแทนรายเดือนของ SET Total Return Index
สถิติผลตอบแทนรายเดือนของ SET Total Return Index

#ข้อที่7 ในสถิติข้างต้นนี้ พิจารณาเฉพาะกรณีผลตอบแทนรวมที่มีการกระจายการลงทุนในหุ้นทั้งตลาด ความหมายก็คือว่า ความเสี่ยงเดียวที่นักลงทุนเจอ ก็คือความเสี่ยงของตลาดที่เป็นระบบ (Systematic Risk) ที่ไม่ว่าหุ้นตัวไหนก็มีโอกาสเจอเหมือน ๆ กัน ซึ่งถ้าหากว่านักลงทุน ไม่มีการกระจายการลงทุนที่ดีเพื่อกระจายความเสี่ยงเฉพาะตัวของหุ้นแต่ละตัว (Specific Risk) ออกไปแล้ว ผลตอบแทนรวมที่ได้ในความเป็นจริงของนักลงทุน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าจากสถิติที่แสดงให้เห็นในรูป และพอร์ตการลงทุนที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ก็อาจจะต้องพบเจอกับความผันผวนในระดับที่รุนแรงแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

จากข้อคิดเห็นและข้อสังเกตข้างบนนี้ โดยอ้างอิงจากสถิติที่เกิดขึ้นในตลาดกระทิงครั้งที่แล้วมา อาจจะพอช่วยให้นักลงทุนที่กำลังสนใจการลงทุนในตลาดหุ้น ณ ปัจจุบันนี้ หาคำตอบว่า ตอนไหนที่เป็นจังหวะที่จะต้องลงทุน ระยะเวลานานแค่ไหนกว่าจะได้กำไรที่ต้องการ นานเท่าไหร่ที่จะผ่านช่วงเวลาที่ขาดทุน และการลงทุนในระยะยาว พร้อมกับการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมนั้น มีความสำคัญอย่างไร

ขอบคุณข้อมูลจาก

ดาวน์โหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่

185 views0 comments
bottom of page