หลังจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2019 สิ้นสุดลง โดยทัพนักกีฬาไทยคว้าได้ 92 เหรียญทอง เป็นอันดับที่ 3 ก็มีข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่านักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬา ได้รับเงินอัดฉีดรวมกว่า 226 ล้านบาท ประเด็นทางภาษีเกี่ยวกับเงินเหล่านี้เป็นอย่างไร ไปติดตามกันครับ...
มุมมองของนักกีฬา
เมื่อต้นปี 2560 ได้มีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินอัดฉีดนักกีฬา (รวมถึงทรัพย์สิน) หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า “เงินได้ที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเป็นรางวัลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ” ในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ ซึ่งเมื่อรวมกับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หาจากบุคคลอื่นนอกจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ไม่เกิน 10 ล้านบาท ทำให้มีผลเป็นการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ในกรณีนี้ทั้งจำนวน โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีการรับให้เริ่มใช้บังคับ
โดยหลักเกณฑ์ของการยกเว้นภาษีในกรณีนี้คือ เป็นเงินได้ที่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬาได้รับจากภาครัฐหรือเอกชน เนื่องในการเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬา ได้แก่ โอลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และซีเกมส์ (รวมถึงพาราลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนพาราเกมส์ เอเชี่ยนอินดอร์มาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ เอเชี่ยนบีชเกมส์ และอาเซียนพาราเกมส์) หรือการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ ได้แก่ การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลก แห่งเอเชีย แห่งอาเซียน หรือการแข่งขันที่สหพันธ์กีฬานานาชาติเป็นผู้จัด ซึ่งจะต้องได้รับเงินดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่การแข่งขันสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขสำคัญก็คือ จะต้องไม่มีข้อผูกพันให้นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬาผู้นั้น ต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการตอบแทนให้แก่ผู้ให้หรือบุคคลอื่น เช่น เป็น Presenter ให้กับแบรนด์สินค้า หากปรากฏว่ามีข้อผูกพันเช่นนั้น เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (เงินได้จากการรับทำงานให้) หรือในกรณีที่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬาผู้นั้นเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้มอบ จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินได้จากการจ้างแรงงาน) ซึ่งจะเห็นว่า เงินได้ในกรณีเหล่านี้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด
มุมมองของผู้มอบเงินรางวัล
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การที่บริษัทมอบเงินหรือทรัพย์สินให้แก่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬานั้น เข้าลักษณะเป็น “การให้โดยเสน่หา” ซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น บริษัทจะไม่สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่หากบริษัทต้องการถือเป็นรายจ่าย จะต้องมีข้อผูกพันให้ผู้รับเงินต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการตอบแทนแก่บริษัท เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ (ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือ 2 ในมุมมองของผู้ได้รับ และผู้มอบต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย)
หรือหากเป็นการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการกีฬา หรือให้แก่คณะกรรมการกีฬาจังหวัด เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด หรือให้แก่กรมพลศึกษา เพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือให้แก่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดหรือสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” เพื่อการกีฬา ก็สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการศึกษา ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ ส่วนการบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ (สำหรับปี พ.ศ. 2562 การบริจาคให้แก่องค์กรกีฬาผ่านระบบรับบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-donation) สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคทั่วไป ส่วนที่เหลือจากการใช้สิทธิดังกล่าวสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ตามเกณฑ์ที่กล่าวไปครับ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการมอบเป็นทรัพย์สินแก่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬา ถือเป็นการโอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทน บริษัทจึงต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มอบนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นอกจากนี้ การมอบทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ ยังถือเป็นการขายในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ดังนั้น บริษัทจึงต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทรัพย์สิน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน จะอยู่ในระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยบริษัทต้องยื่นแบบ ภ.ธ. 40 และชำระภาษีในขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอัตรา 3.3% ของราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์นั้น
สรุป
การมอบเงินอัดฉีดแก่นักกีฬาทีมชาติหรือผู้ฝึกสอนกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานาน ซึ่งการที่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนกีฬาจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้น จะต้องได้รับเงินอัดฉีดภายใน 1 ปี นับจากวันที่การแข่งขันสิ้นสุดลง และต้องไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติสิ่งใดเพื่อตอบแทนผู้มอบเงินรางวัลหรือบุคคลอื่นใด ในขณะที่บริษัทผู้มอบเงินรางวัล ถ้าต้องการนำเงินดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษี จะต้องมีข้อผูกพันให้ผู้รับเงินต้องปฏิบัติสิ่งใด เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้ได้รับต้องเสียภาษี และผู้มอบต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ หากบริษัทมอบเป็นทรัพย์สิน จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี รวมทั้งเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (สำหรับทรัพย์สินอื่น ๆ) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ (สำหรับอสังหาริมทรัพย์) อีกด้วย ส่วนการบริจาคผ่านองค์กรกีฬา เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือสมาคมกีฬา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุนการกีฬาของชาติเช่นกันครับ...
ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy
อ้างอิง
ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (28), 50 (1), 65 ทวิ (4), 65 ตรี (3) (13), 77/1 (8), 77/2 (1), 78 (1), 79, 79/3 (1), 83, 91/1 (4), 91/2 (6), 91/5 (6), 91/6 (3), 91/8 วรรคสาม, 91/10 วรรคห้า, 91/16 (6)
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 มาตรา 4 (3)
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 428) พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (2)
พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 696) พ.ศ. 2563 มาตรา 3 (2)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (93)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพื่อการกีฬาฯ ข้อ 3
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 293) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเป็นรางวัลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ เฉพาะส่วนที่เกินสิบล้านบาท
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 82/2542 เรื่อง การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรฯ ข้อ 1, 3 (3), 6
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ข้อ 2 (10)
หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/276 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539
Kommentare