top of page
Writer's pictureKasidis Suwanampai, CFP®

"Social Distancing" กับการจัดการความเสี่ยงภัย


ในแง่ของการวางแผนการเงิน แนวทางการจัดการความเสี่ยงภัยนั้นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับ "โอกาสและความถี่ที่จะเกิดภัย" และ "ความรุนแรงของผลกระทบเมื่อเกิดภัยขึ้น"


ตัวอย่างเช่น เราสามารถรับความเสี่ยงภัยไว้เองได้ หากต้องเจอกับภัยที่โอกาสเกิดน้อยและความรุนแรงน้อย (เช่น การเตรียมเงินสดสำรองไว้หากป่วยเป็นไข้หวัดหรือท้องเสีย) หรือต้องใช้การควบคุมความเสี่ยง ไม่ให้เกิดขึ้นหรือเกิดในวงจำกัด ป้องกันก่อนเกิดเหตุ เมื่อต้องรับมือกับภัยที่โอกาสเกิดมากแต่ความรุนแรงน้อย (เช่น การซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงาน)


แต่เมื่อความเสี่ยงภัยนั้นสูงมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดภัยเยอะมากขึ้นโดยที่เรานั้นไม่สามารถควบคุมได้ แนวทางการจัดการก็จะต้องมีมากขึ้น เช่น ในเรื่องของการโอนย้ายความเสี่ยงที่เรารับมือเองไม่ไหวออกไป (เช่น การทำประกันภัย) และ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้มากที่สุด


ด้วยหลักคิดและแนวทางข้างต้นนั้น เราก็สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้รวมกับเรื่องของการเตรียมตัวรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ด้วยเช่นกัน


สำหรับการรับมือกับ COVID-19 นั้น แม้ว่าเราจะมีการรับมือความเสี่ยงไว้เอง และควบคุม-โอนย้ายความเสี่ยงไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น Active Protection อย่างการล้างมือหรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือฆ่าเชื้อ ฯ หรือจะมี Passive Protection อย่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในกรณีเจ็บป่วยแล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการป้องกันและรับมือกับโอกาสในการติดเชื้อ


แต่วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรง คือการที่ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะติดเชื้อนั่นเอง พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะต้องทำกิจกรรมกลุ่มหรืออยู่ในพื้นที่ที่ต้องเจอกับผู้คนจำนวนมากและแออัด เช่น สนามกีฬา ยิม ผับ ฯลฯ


วิธีการนั้นก็คือ "Social Distancing" ที่ถ้าแปลตรงตัวก็คือ "ระยะห่างทางสังคม" แต่ความหมายจริง ๆ ของคำนี้ก็คือ การหลีกเลี่ยงจากพื้นที่ที่ต้องเจอกับคนหมู่มาก หรือการรักษาระยะห่างระหว่างที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กันกับผู้อื่นเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อทางอากาศ เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเราเองได้

ซึ่งผลลัพธ์ของการทำ Social Distancing นั้น ก็จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้เป็นจำนวนมาก ลองดูตัวอย่างจากแบบจำลองนี้ได้ครับ


โดยมีตัวอย่างของการใช้มาตรการ Social Distancing ที่เคยเกิดขึ้นจริงแล้วในปี ค.ศ. 1918 ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่เมือง St. Louis ประกาศใช้มาตรการแทรกแซงด้านสาธารณสุขดังกล่าวเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด


อย่างไรก็ตาม การใช้ Social Distancing นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้รัฐเป็นผู้ประกาศบังคับใช้เสมอไป เราเองก็สามารถเลือกปฎิบัติและทำตามแนวทางของมาตรการนี้ด้วยตัวเองก่อนได้ เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้จากตัวเราเองครับ



อ่านเพิ่มเติม

24 views0 comments

Comments


bottom of page