เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ จำนวนประชากรไทยจะลดไปเกือบครึ่ง พร้อมกับกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ที่มีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ
... และนี่คือความเสี่ยงของคนไทยทุกคน ...
ฟังแล้วอาจจะงง ๆ อยู่บ้าง จึงอยากลองเนื้อหาอ่านข้างล่างนี้ดูครับ
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า ในปี ค.ศ. 2100 จำนวนประชากรของประเทศไทย อาจจะเหลือเพียง 41.6 ล้านคน ลดลงจากประมาณการประชากรไทยในปี 2020 ที่ 68.6 ล้านคน หรือเทียบเป็นอัตราการลดลงของประชากรไปกว่า 39.3% เมื่อการคาดการณ์ด้วยอัตราการเจริญพันธุ์ระดับปกติ
นั่นหมายความว่า เราจะกลายเป็นชาติอันดับที่ 9 ของโลกที่มีจำนวนประชากรลดลงไปมากที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของศตวรรษนี้
ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวเลขที่เคยถูกเปิดเผยในรายงานข่าวของ Bloomberg ชื่อ Thailand Has a Developing Economy and a Big First World Problem ที่พูดถึงเรื่องสังคมสูงอายุและกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ยังเป็นปัญหาระดับชาติ ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับโลกในไม่ช้า ว่าไทยจะกลายเป็นสังคมที่ " แก่และจน "
ทำให้อาจตีความได้อีกว่า วันข้างหน้า อัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ก็อาจจะน้อยลงตามจำนวนประชากรไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ที่อาจจะน้อยลงไปอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต หรือถึงขั้นถดถอย
นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่กำลังสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (นิยามคือ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงกว่า 20% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่า 14%) กับอัตราการเกิดที่น้อยลงไปทุก ๆ ปี เป็นปัจจัยที่ค่อย ๆ พัฒนาให้สังคมไทยกลายเป็น " เกิดน้อย ตายยาก "
เมื่อรวมเรื่องความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจกับภาวะทางสังคม นั่นหมายถึง ประชากรวัยทำงานจำนวนน้อยนิด (ที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะเกิดน้อยลงอีก) อาจต้องเผชิญกับภาวะในการที่เศรษฐกิจในอนาคตเติบโตช้า แถมมีภาระต้องดูแลผู้สูงอายุในประเทศอีก จากปัจจุบัน ที่คนวัยทำงานราว 4 คน จะช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เทียบเป็นสัดส่วน 4:1 แต่เมื่อศตวรรษนี้ผ่านพ้นไป อัตราส่วนดังกล่าวจะเหลือแค่ 1:1 เท่านั้นเอง พูดอีกแง่ได้ว่า ผู้สูงอายุในอนาคตก็จะไม่มีคนมาช่วยกันดูแลเหมือนแต่ก่อนแล้ว
เท่านั้นยังไม่พอ คนไทยจะยังมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ อีก เพราะจากข้อมูลการประมาณการ พบว่าภายในศตวรรษหน้า เด็กไทยที่เกิดใหม่มีแนวโน้มจะอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจุบันที 77 ปีโดยเฉลี่ย กลายเป็น 88 ปีโดยเฉลี่ยเมื่อ ค.ศ. 2100 ด้วยทั้งปัจจัยในด้านวิทยาการทางการแพทย์ และความเสี่ยงในการใช้ชีวิตที่อาจจะเสี่ยงน้อยลงกว่าอดีตเมื่อมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
สรุปว่า ปัญหาของคนไทยในอนาคต ก็คงประมาณว่า
"เด็กเกิดน้อย แก่แล้วตายยาก แถมจนกันถ้วนหน้า"
นั่นแหละครับ
ที่สรุปมาทั้งหมด จากปัญหาเหล่านี้ มีประเด็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ที่อาจจะเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก และอยากจะพูดถึงมาก ๆ ในเวลานี้คือ ความเสี่ยงจากการที่มีอายุยืนยาวเกินกว่าที่คาดไว้ หรือ Longevity Risk นั่นเอง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่หลายคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญในตอนนี้ แต่เมื่อแก่ตัวไป อาจจะเจ็บปวดกับพิษสงของมันได้ เพราะสิ่งที่ได้เตรียมไว้ อาจมีไม่พอสำหรับอนาคต
ไม่ว่าจะเป็น " เงินหมดก่อนตาย " หรือ " ไม่มีใครจะมาดูแลได้เมื่อแก่เฒ่า "
การเตรียมตัวรับมือความเสี่ยงนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลามาเป็นเครื่องทุ่งแรง ต้องอาศัยการวางแผนเพื่อรับมือกับการเกษียณอย่างเหมาะสม ผ่านการออมและลงทุนเพื่อสะสมเงินที่เรียกว่าเป็น 'Serious Money' ของเราในอนาคต พร้อมกับจัดการความเสี่ยงภัยในความต้องการพื้นฐานของชีวิตยามเกษียณ รวมถึงการบริหารจัดการสวัสดิการเพื่อการเกษียณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากรัฐ หรือจากนายจ้าง อย่างเหมาะสมและครบถ้วน ครบทุกด้านและทุกโอกาสที่ชีวิตอาจจะเจอได้ในอนาคต เพื่อให้ครอบคลุมเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้จริง ๆ
เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราแก่ตัวไป ในวันที่คนรุ่นใหม่ในอนาคตก็เริ่มมีภาระที่มากขึ้นจนอาจจะไม่ได้มาช่วยดูแลเราได้เต็มที่เหมือนทุกวันนี้ด้วยโครงสร้างทางสังคม ประกอบกับกรณีที่หากภาวะทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เติบโตดีมากนักแล้ว ถึงเวลานั้นการดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ
และถ้าหากยังไม่เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ให้พร้อมตั้งแต่ยังทำได้
"ความลำบาก" ที่นั่งรอเราอยู่ข้างหน้า ก็จะลุกเดินเข้ามาหาเราเองแหละครับ
มีน้อยก็อย่าคอยท่า มีมากก็อย่าประมาท
วางแผนที่ดีในวันนี้ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต
PLAN WELL TO LIVE WELL
ด้วยความปรารถนาดีจาก #talktoKasidis และ #SiamWealthManagement
เนื่องจากในปี 2019 นี้ ทางคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB) ผู้ออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ได้รณรงค์ให้วันที่ 2 ตุลาคมของปีนี้ เป็น วันวางแผนการเงินโลก หรือ World Financial Planning Day เพื่อส่งเสริมให้องค์กรและบุคลากรในสายงานการวางแผนการเงินร่วมกันกระตุ้นและส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินในหัวข้อต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ทาง Siam Wealth Management จึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อร่วมในแคมเปญการรณรงค์ด้วยเช่นกันครับ
หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความของเรา ก็สามารถแชร์บทความนี้ออกไปเพื่อร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าว ด้วยการแชร์และติด Hashtag #WFPD19 และ #PlanWell2LiveWell ไว้ในโพสต์ด้วยนะครับ ^^
อ้างอิงเนื้อหา:
โดยข้อมูลส่วนใหญ่มีที่มาจากองค์การสหประชาชาติ
コメント