top of page

สิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่คุณแม่ (มือใหม่) ต้องรู้

Updated: Jul 12, 2021


เดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่ง “วันแม่” ของไทย พูดถึงความเป็นแม่แล้ว ปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะมีครอบครัวและมีบุตรกันน้อยลง เนื่องจากสภาพการทำงานที่เคร่งเครียดมากขึ้น จนส่งผลให้โครงสร้างประชากรเกิดความไม่สมดุล ทำให้รัฐบาลต้องเสนอมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้น คุณแม่มือใหม่ที่วางแผนจะมีบุตรสักคน จึงควรทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปหาคำตอบด้วยกันเลยครับ...


เมื่อตั้งครรภ์

คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (มาตรา 33, 39) และได้ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินครรภ์ละ 1,000 บาท[1] โดยแบ่งตามอายุครรภ์ดังนี้

  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่เกิน 500 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ไม่เกิน 300 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ ไม่เกิน 200 บาท

สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีนั้น ยังสามารถไปลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน จนเด็กอายุครบ 6 ปี โดยลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนา และสามารถขอรับสิทธิได้แม้จะเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็ตาม


เมื่อคลอดบุตร

คุณแม่ที่เป็นลูกจ้างภาคเอกชน (เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33) จะมีสิทธิลาเพื่อการคลอดบุตรได้ครรภ์ละไม่เกิน 98 วัน (รวมวันลาเพื่อการตรวจครรภ์ และวันหยุดที่มีระหว่างนั้นด้วย) โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ แต่ไม่เกิน 45 วัน และยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจากกองทุนประกันสังคมอีกครรภ์ละ 13,000 บาท[2] (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) รวมถึงเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร (ไม่เกิน 2 ครรภ์) เท่ากับ 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน (ค่าจ้างในระบบประกันสังคมมีเพดานอยู่ที่ 15,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์สูงสุด 22,500 บาท) ส่วนคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ก็มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรทั้ง 2 ส่วนเช่นกัน โดยค่าจ้างในกรณีนี้คำนวณจากอัตรา 4,800 บาท เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรที่ได้รับจึงอยู่ที่ 7,200 บาท

นอกจากนี้ คุณแม่ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท โดยต้องหักสิทธิสวัสดิการที่ได้รับจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชนด้วย (เช่น ได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม 14,000 บาท และสิทธิสวัสดิการจากนายจ้าง 20,000 บาท จะลดหย่อนภาษีสำหรับครรภ์นี้ได้ 26,000 บาท)


เมื่อลูกถึงวัยเตาะแตะ-เรียนหนังสือ

คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 และได้ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน[3] คราวละไม่เกิน 3 คน (เช่น หากบุตรคนแรกอายุถึง 6 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถนำบุตรคนที่ 4 มารับเงินสงเคราะห์ต่อไปได้)

สำหรับคุณแม่ที่ทำอาชีพอิสระ และได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 3 (สมทบเดือนละ 300 บาท) ก็มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์เช่นเดียวกัน ในอัตรา 200 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน คราวละไม่เกิน 2 คน โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องได้ส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 24 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว และต้องมีการจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือนที่มีสิทธิด้วย

นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถลดหย่อนภาษีสำหรับบุตรอีกคนละ 30,000 บาท และสำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 (นับลำดับของบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม) จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยใช้สิทธิลดหย่อนได้ตั้งแต่ปีภาษีที่บุตรเกิด ทั้งนี้มีเงื่อนไขคือ บุตรคนนั้นจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี เช่น รางวัลจากการแข่งขัน/ชิงโชค ค่าตัวนักแสดง ค่าเช่าทรัพย์สินที่ใช้ชื่อบุตรเป็นเจ้าของ ฯลฯ ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปในปีภาษีนั้น และบุตรต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ด้วย คือ (1) เป็นผู้เยาว์ คือยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ว่าจะโดยอายุหรือโดยการสมรส หรือ (2) มีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป หรือ (3) ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ


ถึงตอนนี้ บรรดาคุณแม่มือใหม่ก็คงจะได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งตามกฎหมายแรงงาน ประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม และโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเป็นคุณแม่กันไปแล้ว เชื่อว่าสิทธิประโยชน์เหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้คุณแม่สามารถวางแผนเกี่ยวกับการมีบุตรมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องไม่ลืมว่าเราให้กำเนิดลูกน้อยมาเพื่อเลี้ยงดูให้เขาได้เติบโตเป็นคนดีของสังคม มาพัฒนาประเทศต่อไปในภายภาคหน้านั่นเองครับ...


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy


อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (1) (ค)

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41, 59

พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 65-68, 74-75, 75 ตรี

พ.ร.ฎ. กําหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 มาตรา 8, 18

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (99)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 และ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533

กฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561

ระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร

ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ



[1] ต่อมาในปี 2564 ได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าตรวจและรับฝากครรภ์เป็นไม่เกินครรภ์ละ 1,500 บาท โดยแบ่งตามอายุครรภ์ดังนี้

  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่เกิน 500 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ไม่เกิน 300 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ ไม่เกิน 300 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ ไม่เกิน 200 บาท

  • อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่เกิน 200 บาท

[2] ต่อมาในปี 2564 ได้มีการปรับเพิ่มอัตราประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเป็นครรภ์ละ 15,000 บาท

[3] ต่อมาในปี 2564 ได้มีการเพิ่มอัตราประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรเป็นเดือนละ 800 บาทต่อบุตร 1 คน

258 views0 comments
bottom of page