top of page

ก้าวผ่าน 'The Great Moderation' สู่อนาคตข้างหน้าที่ไม่อาจคาดเดาได้ .. อ่านมุมมองจาก BlackRock


ยุค ‘The Great Moderation’ หรือช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพเป็นอย่างมากนั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยุคใหม่ของความผันผวนที่มากขึ้นในตลาดระดับมหภาคก็กำลังคืบคลานเข้ามา ซึ่งจากโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หลายฝ่ายได้มีการทำนายไว้ ธนาคารกลางของหลายประเทศก็ได้เร่งดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างยิ่งจนอาจมากเกินไป ในขณะที่กำลังพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้ในภาพระยะสั้น เราจึงแนะนำลดสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นของตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market - DM) และเราคาดว่าจะกลับมาเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น ในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี 2023 นี้ แต่ก็ยังไม่ใช่ในตอนต้นปีนี้อย่างแน่นอน และเมื่อถึงเวลานั้น เราเองก็คาดว่าคงจะไม่ได้เห็นตลาดกระทิงที่ยั่งยืนเหมือนในอดีต .. นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีแนวทางการลงทุนใหม่

นี่คือบทปฐมทัศน์ ที่เขียนไว้ในย่อหน้าแรกของรายงานฉบับพิเศษ 2023 Global Outlook - A New Investment Playbook โดย BlackRock Investment Institute ซึ่งได้มีการเผยแพร่มาในช่วงสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา และมากไปกว่านั้น จากสภาพตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมาในปีที่แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า การที่เหล่าธนาคารกลางซึ่งเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยอัตราที่เร็วและแรง เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดตราสารหนี้และสินทรัพย์เสี่ยงสูงอื่น ๆ เพราะการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการอัตราเงินเฟ้อที่สูงให้อยู่หมัด ธนาคารกลางเองก็ต้องแลกมาด้วยการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น ในรายงานฉบับนี้ จึงสรุปมุมมองเรื่องการลงทุนของปี 2023 ไว้ใน 3 ธีม ดังนี้


1. Pricing the Damage - รับรู้ผลร้ายในราคา ในระยะสั้น ตลาดหุ้นโดยภาพรวม ยังไม่ได้รับรู้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะตามมา (สังเกตจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่เคลื่อนไหวค่อนข้างไวต่ออัตราดอกเบี้ย) และอาจจะยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดีนักของการเติบโตของตลาดหุ้นในทศวรรษหน้า เพราะแม้ว่าการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าลงหลังจากธนาคารกลางเอาชนะการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้แล้ว ก็ไม่ได้ทำให้จุดที่เริ่มมีการผ่อนปรนนโยบาย กลายเป็นจุดที่น่าสนใจในการเข้าช้อนซื้อหุ้น (Buying the dip) เหมือนในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากสภาพตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จึงต้องเฝ้าจับตากระแสและแนวโน้มของทิศทางตลาดอย่างใกล้ชิด รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราคาหุ้น เช่น ผลประกอบการ อัตรากำไรต่อหุ้น ฯลฯ

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่กดตัวรุนแรงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ปัจจัยด้านกำไรสุทธิที่อาจลดลง ยังไม่ถูกรับรู้โดยตลาด

2. Rethinking bonds - ทบทวนซ้ำกับตราสารหนี้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง จนทำให้นักลงทุนไม่จำเป็นต้องเสี่ยงมากเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะเพียงแค่ลงทุนตราสารหนี้อย่างหุ้นกู้คุณภาพสูงของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี และมีอายุสั้น ๆ ก็ทำดอกผลได้ดีแล้ว แต่ในขณะเดียวกันตราสารหนี้ระยะยาวก็อันตรายมากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยผันผวนและอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง แถมธนาคารกลางเองก็ยังดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมในขณะที่หนี้สาธารณะสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอาจทำให้ตราสารหนี้ระยะยาวไม่เหมาะสำหรับการเอามาประกอบพอร์ต เนื่องจากผลของค่าสหสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป(เป็นบวก หรือเกิด Correlation Breakdown) จนอาจทำให้เวลาที่ตลาดหุ้นขาดทุน ไม่ได้หมายความว่าตลาดตราสารหนี้จะมีกำไรอีกต่อไป และอาจขาดทุนเช่นเดียวกับตลาดหุ้น แบบผลตอบแทนในปี 2022 ที่ผ่านมา

ตราสารหนี้ระยะสั้นได้รับความสนใจมาก ในช่วงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ผลตอบแทนปี 2022 ที่ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ติดลบทั้งคู่

3. Living with inflation - อยู่กับเงินเฟ้อให้ได้ จากสามประเด็นปัจจัยการผลิต อันได้แก่ สังคมสูงวัยและแรงงานที่เริ่มแก่ตัวลง ความตึงเครียดในเชิงการเมืองโลกที่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตของยุคโลกาภิวัฒน์ และการขับเคลื่อนนโยบาย Zero-Carbon ที่อาจทำให้ความต้องการและการผลิตพลังงานอาจไม่สมดุลกัน กลายมาเป็นกลุ่มปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้อัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างน้อยก็ในช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ จึงแนะนำให้มองหาโอกาสในสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked Bond) ทั้งกลยุทธในระยะสั้นและระยะยาว

ประมาณการณ์เงินเฟ้อ ที่ดูมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนปี 2020
ปัจจัยเรื่องการเมือง และแรงงานที่เริ่มสูงวัย ที่ทำให้อัตราการผลิตอาจลดลง

ทั้งนี้ นอกเหนือไปจาก 3 มุมมองข้างบนแล้ว การที่จะต้องติดตามพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธและความเสี่ยงของพอร์ตอาจจะต้องมีความถี่ที่มากขึ้น รวมถึงการประเมินว่าผลกระทบในด้านลบนั้นได้ถูกตลาดรับรู้ไปมากน้อยเพียงใดแล้ว ทำให้การติดตามภาวะตลาดหลังจากนี้ จะไม่ได้แค่มองภาพรวมเท่านั้น แต่ต้องลงลึกไปในระดับรายอุตสาหกรรม ภูมิภาค และกลุ่มสินทรัพย์ย่อย ๆ อีกด้วย


สำหรับมุมมองการลงทุนระยะยาว (สำหรับ Strategic Asset Allocation - SAA) ทาง BlackRock Investment Institute มองว่า ตลาดในระยะยาวหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การจัดกลุ่มสินทรัพย์เพื่อการลงทุนหลังจากนี้ อาจทำแล้วไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนในทศวรรษที่ผ่านมา จากความผันผวนที่มากขึ้น และการจัดกลุ่มสินทรัพย์ที่ผิด อาจทำให้ผลขาดทุนรุนแรงกว่าเดิมได้ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับสถิติในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ แนวทางในการลงทุนระยะยาว ก็ยังคงแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น มากกว่าตราสารหนี้ จากสมมติฐานการเติบโตในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อให้มากขึ้น เพิ่มหุ้นกู้คุณภาพดีและอายุสั้นให้มากขึ้น และลดพันธบัตรระยะยาวลง

มุมมองการลงทุนระยะยาว (Strategic) และระยะสั้น (Tactical)

และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ด้านการคมนาคมและด้านพลังงาน) จะกลายเป็นจุดสนใจใหม่ของการลงทุนในระยะยาวด้วยเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดที่ผันผวน และยังต้องสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาประเทศของหลาย ๆ ภูมิภาคอีกด้วย


ส่วนมุมมองการลงทุนในระยะสั้น (สำหรับ Tactical Asset Allocation - TAA) ทาง BlackRock Investment Institute ยังมองว่า ในสภาพตลาดปัจจุบัน ณ ตอนนี้ ที่ผลกระทบในด้านลบยังไม่ถูกรับรู้ และภาพรวมของตลาดเองก็ยังไม่พร้อมเสี่ยงกัน ดังนั้น จึงออกแบบคำแนะนำของแผนกลยุทธระยะสั้นสำหรับการลงทุนในปี 2023 มา 4 กรณีของความเป็นไปได้ ตามรูปด้านล่างนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (Scenario) ว่าต่อจากนี้ไป สภาพตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ดังนี้

Playbook มุมมองการลงทุนระยะสั้น สำหรับแต่ละกรณี

A. Risk off, damage not priced กรณีผลกระทบในด้านลบยังไม่ถูกรับรู้ และภาพรวมของตลาดก็ไม่พร้อมเสี่ยง

  • ซึ่งเป็นสภาพตลาดปัจจุบัน ณ ตอนนี้ ทำให้คำแนะนำอยู่ในรูปแบบของการตั้งรับรอดูเชิง คือ ลดสัดส่วนหุ้นลงจากกลยุทธระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นของตลาดที่พัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้คุณภาพสูงและตราสาร MBS ในสหรัฐ และหลีกหนีจากพันธบัตรระยะยาว

B. Risk off, damage priced กรณีผลกระทบในด้านลบถูกรับรู้โดยตลาดแล้ว แต่ภาพรวมของตลาดก็ยังไม่พร้อมเสี่ยง

  • ณ จุดนั้น ให้เพิ่มความเสี่ยงในตลาดหุ้นขึ้นมาบ้าง เนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดอาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรระยะสั้น และลดสัดส่วนหุ้นกู้ลง

C. Risk on, damage not priced

กรณีผลกระทบในด้านลบยังไม่ถูกรับรู้ แต่ภาพรวมของตลาดพร้อมเสี่ยง

  • ณ จุดนั้น ให้เพิ่มความเสี่ยงในตลาดหุ้นขึ้นมาบ้าง เนื่องจากทิศทางของตลาดเริ่มเห็นว่าความเสี่ยงน้อยลง พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรระยะสั้น และลดสัดส่วนหุ้นกู้ลง (เหมือนกรณี B.)

D. Risk on, damage priced กรณีผลกระทบในด้านลบถูกรับรู้โดยตลาดแล้ว และภาพรวมของตลาดก็พร้อมเสี่ยง

  • ณ จุดนั้น ตลาดหุ้นอาจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะกระทิงในระยะสั้น ทำให้เพิ่มสัดส่วนในหุ้นเข้าไปเยอะมาก และลดระดับการลงทุนในตราสารหนี้ทุกแบบลง

มุมมองการลงทุนระยะสั้น ใน 12 เดือนหลังจากนี้

และทั้งหมดนี้ คือสรุปมุมมองการลงทุน พร้อมคำแนะนำในการวางกลยุทธเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนในปี 2023 นี้ จาก BlackRock Investment Institute ซึ่งนับได้ว่าครอบคลุมและน่าสนใจในหลาย ๆ มิติ หลาย ๆ ประเด็น เพราะเมื่อมองจากภาวะตลาดในช่วงนี้ ที่แม้ตลาดปกติก็ไม่สามารถคาดเดาได้อยู่แล้ว ยังต้องมาเจอความไม่แน่นอนที่หลากหลายมากขึ้นจนกลายเป็นการทวีความรุนแรงของความผันผวน จากตรงนี้ จึงทำให้เราต้องเตรียมความพร้อมของวิธีรับมือในทุก ๆ รูปแบบไว้ล่วงหน้า


และเมื่อเวลานั้นมาถึง จะได้มีแนวทาง (Playbook) สำหรับการลงมือทำได้ทันที

... เพราะตลาดก็ไม่เคยรีรอใคร



อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม

88 views0 comments
bottom of page