top of page
Writer's pictureKasidis Suwanampai, CFP®

เมื่อ 2022 เป็นอีกปีที่แย่ที่สุดสำหรับการลงทุน แล้ว 2023 จะยังไงต่อดี .. อ่านมุมมองจาก Lombard Odier

2022 กลายเป็นหนึ่งในสามปีที่แย่ที่สุดสำหรับการลงทุนในรอบร้อยปีที่ผ่านมา

https://www.lombardodier.com/contents/corporate-news/investment-insights/2022/december/turning-the-page-on-2022.html
ที่มา Lombard Odier Private Bank

จากรายงานฉบับพิเศษ CIO Viewpoint - Turning the page on 2022 ของทาง Lombard Odier ที่เขียนถึงบทสรุปของการลงทุนในปี 2022 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือกราฟในรูปนี้ ที่บอกว่าปี 2022 นี้ ก็เป็นอีกปีที่นับได้ว่า “แย่สุด ๆ” ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดทุนสหรัฐ ฯ ผู้ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยดูเทียบจากสถิติผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ (ตัวอย่างจาก พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ฯ หรือ US Treasury อายุ 5 ปี) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงสูง (ตัวอย่างจาก หุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ) ที่ติดลบด้วยกันทั้งคู่


ความหมายก็คือ ไม่ว่าจะลงทุนแบบเสี่ยงต่ำ หรือลงทุนแบบเสี่ยงสูง พอร์ตก็แดงแป๊ดกันหมด (ซึ่งก็อาจจะมีสินทรัพย์ประเภทอื่นนอกเหนือจากนี้ที่ผลตอบแทนดี แต่เพื่อยกตัวอย่าง เข้าใจว่าทางรายงานจึงเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะกับตลาดทุนของสหรัฐ ฯ)


และซ้ำรอยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจตกต่ำในปี 1931 (ช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐ ฯ หรือ “The Great Depression”) และปี 1969 (ช่วงยุคปลายสงครามเวียดนาม) ไปเป็นครั้งที่สาม จากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา


นอกจากนั้น ปี 2022 ยังมีผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งเสี่ยงต่ำและเสี่ยงสูง ที่แย่กว่าปี 2008 ยุคของวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือที่เรียกติดปากกันว่าวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) และปี 2002 ยุคของวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม ที่แม้ว่าตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนติดลบมหาศาล แต่ตลาดตราสารหนี้ยังถือว่าดีกว่ามาก และนอกจากนี้ ปี 2022 ก็ยังอยู่ในโซนที่นับว่าแย่กว่าปี 2019-2021 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ตามมาด้วยซ้ำไป


โดยศัพท์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในรายงานฉบับนี้ก็คือ “Permacrisis” ศัพท์แปลกไม่คุ้นหู ที่ได้รับการเสนอจากพจนานุกรม Collins Dictionary ให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 และแปลเป็นไทยได้ว่า “วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงทน” โดยมีที่มาจากคำว่า Perma- (คงทน) รวมกับ Crisis (วิกฤต) แสดงถึงช่วงเวลาแห่งความไร้เสถียรภาพและความไม่มั่นคงปลอดภัยที่ยืดเยื้อออกไป อันเป็นผลมาจากสถานการณ์และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก


เปรียบได้กับบทสรุปแบบขอสั้น ๆ ของการลงทุนปีนี้ ว่าทั้งจากปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางที่พุ่งสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว สงครามทั้งทางกายภาพ(ยูเครน-รัสเซีย)และทางเศรษฐกิจ(จีน-สหรัฐ ฯ)ที่ส่งผลต่อปัจจัยด้านพลังงานและทรัพยากร ทำให้หน้าตาของผลตอบแทนจากการลงทุน ออกมาอย่างที่เห็นกันแบบนี้


2023 อีกปีแห่งความท้าทาย และ 10 คำแนะนำสำหรับปีหน้า


จากที่สังเกตได้ในรูปดังกล่าวแล้วพบว่า ในปี 1932 และปี 1970 ซึ่งเป็นปีถัดจากปีที่ถูกจัดว่า “แย่สุด ๆ” มา มีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนจากฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่ดีขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงสูงก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แย่ซ้ำรอยตามปีก่อนหน้าไป ดังนั้น ถ้าว่ากันด้วยสถิติแล้ว ปี 2023 ข้างหน้านี้ ก็อาจจะพอคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าในปี 2022 ได้


เพียงแต่ว่า แนวโน้มจากสถิตินี้ อาจจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีกก็เป็นได้เช่นกัน


และจากรายงานฉบับพิเศษอีกฉบับ CIO Viewpoint - Ten Investment Convictions for 2023 ของทาง Lombard Odier เอง ก็เชื่อว่าผลกระทบจากปี 2022 ในประเด็นของเงินเฟ้อที่สูง นโยบายการเงินที่รัดกุม และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง จะมีผลต่อเนื่องไปยังผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนปี 2023 อย่างแน่นอน เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง อาจส่งผลให้เกิดภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจได้ในสหรัฐ ฯ หรือทางฝั่งยุโรปเอง ก็ยังเจอกับปัญหาราคาพลังงานที่สูงซึ่งเป็นผลมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย จนดันค่าครองชีพขึ้น และแม้ว่าจีนที่เป็นส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง แต่ก็ยังต้องระมัดระวังในปัญหาจากภาคอสังหาริมทรัพย์และนโยบายการควบคุมโรคระบาด


ทั้งหมดนี้ ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในปีหน้า อาจน้อยกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในระยาว จึงทำให้กลยุทธการลงทุนสำหรับปีหน้า การมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำและอัตราการทำกำไรที่ยังดีอยู่ ตราสารหนี้ที่ได้เรทติ้งสูง สกุลเงินที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และเตรียมเงินสดให้พร้อมลงทุน


ดังนั้น ทาง Lombard Odier Private Bank มีคำแนะนำสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การลงทุนในปี 2023 ไว้ โดยสรุปเป็น 10 ข้อได้ดังต่อไปนี้


1. ถึงจุดหนึ่ง ธนาคารกลางจะต้องหยุดการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย และนั่นคือจังหวะที่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุด พร้อมกับเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเพิ่มความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้มากขึ้น (ซึ่งตอบไม่ได้ว่าจะเมื่อไหร่ ต้องติดตามเฝ้ารอ)


โดยในระยะแรก ก่อนที่จะถึงจุดตัดสินใจในข้อ 1. ที่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ถึงจุดสูงสุด


2. ให้คงสัดส่วนการลงทุนที่เสี่ยงสูงไว้ในสัดส่วนที่น้อยก่อน โดยอาจเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ (Quality) พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เรทติ้งดี และเตรียมเงินสดไว้ให้พร้อม


3. หลังจากนี้ ตลาดหุ้นอาจจะพบกับความผันผวนรอบใหม่ จากปัจจัยเรื่องกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่อาจน้อยลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์คุณภาพหลาย ๆ ตัว ไม่ให้กระจุกตัวมากเกินไป


4. การใช้ตราสารอนุพันธ์ประเภทออปชัน (Options) เพื่อ Hedge และลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนลง อาจช่วยให้ Drawdown ของพอร์ตลดลงได้


5. มองหาโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกให้มากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังให้มากและควรจำกัดสัดส่วนการลงทุนให้ไม่เสี่ยงจนเกินไป เพราะว่าอาจจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนเพียงระยะสั้น ๆ จากความผันผวนที่รุนแรงมากกว่าปกติ


6. สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) น่าจะยังคงความแข็งแกร่งอยู่ได้ ไม่อ่อนตัวลงมากนัก หรืออาจจะมองหาสกุลเงินทางเลือกอื่นที่อาจกลายเป็น Safe Heaven ได้ เช่น ฟรังก์สวิส (CHF) หรือ เยน (JPY) และควรหลีกเลี่ยงเงินยูโร (EUR) ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) และหยวน (CNY) ในช่วงแรกนี้


และในระยะที่สอง หลังจากผ่านจุดตัดสินใจในข้อ 1. ที่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว


7. เชื่อว่าทองคำจะได้รับความนิยมมากขึ้น จากการที่ข้อ 6 เริ่มกลับทิศทาง เงินดอลลาร์เริ่มอ่อนตัวลง บวกกับจีนที่เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น


8. เชื่อว่าตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูง (HY Bond) จะน่าสนใจมากขึ้นกว่ากลุ่มพันธบัตรหรือหุ้นกู้ทั่วไป ในการนำมาเติมเข้าสู่พอร์ตการลงทุน


9. เชื่อว่าจะมีโอกาสการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นขาขึ้น จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และ Valuation ของหุ้นที่สูงขึ้นตาม ซึ่งในจุดนั้นอาจจะไปเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ล้อตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical) หรือหุ้นเติบโตสูง (Growth)


10. เชื่อว่าตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มตลาดกำลังพัฒนา (EM) จะน่าลงทุนมากกว่าประเทศกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว (DM) อันเป็นผลมาจากค่าเงินดอลล่าร์ที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงิน EM รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา ผนวกกับแรงสนับสนุนจากกระแสเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ประเทศกลุ่มดังกล่าว


และนี่คือ 10 ข้อแนะนำ ที่แปลและเรียบเรียงจากเอกสารที่คุณ Stéphane Monier CIO ของทาง Lombard Odier Private Bank ได้เผยแพร่ไว้สำหรับแนะนำกลยุทธการลงทุนในปี 2023 ซึ่งนับว่ามีมุมมองที่สนใจไม่น้อย เพราะแม้ว่าในปี 2022 นี้จะมีเซอร์ไพรส์มากมาย แต่ผลงานคำแนะนำสำหรับปี 2022 จากที่ได้แนะนำไว้เมื่อสิ้นปี 2021 โดย CIO ท่านเดียวกันนี้ ก็พาลูกค้ามาถูกทางกว่า 7 ใน 10 ข้อแล้ว


ฉะนั้น หากกำลังมองหาไอเดียสำหรับแผนกลยุทธการจัดการพอร์ตการลงทุนของเราในปีหน้า ก็อาจจะลองหยิบเอาคำแนะนำเหล่านี้จากทาง Lombard Odier ไปประยุกต์ปรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนดูได้ครับ



อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม

84 views0 comments

Comments


bottom of page