top of page

จับตาร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ส่งข้อมูลธุรกรรมให้สรรพากร

Updated: Apr 28, 2020


จับตาร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ส่งข้อมูลธุรกรรมให้สรรพากร ใครที่ยังหลบเลี่ยงภาษี ยังหนีภาษีอยู่ ต้องอ่าน !!!

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในวาระที่ 1 ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตัวร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้ ถ้าประกาศใช้ออกมาเป็นกฎหมายเมื่อไหร่ ใครที่ยังหลบเลี่ยง-หนีภาษี ต้องมีร้อน ๆ หนาว ๆ บ้างล่ะครับ วันนี้ผมเลยขออนุญาตสรุปที่มาที่ไป และให้คำแนะนำเพื่อเตรียมตัวในเบื้องต้นไว้ก่อนครับ

---------- ที่มาที่ไป ----------

- ในหนังสือเรียนเสนอร่าง พ.ร.บ. ฯ ต่อประธาน สนช. ระบุเหตุผลไว้ว่า "โดยที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนซึ่งรวมถึงการรับชำระเงินภาษี ประกอบลักษณะในการทำธุรกรรมของภาคเอกชนในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร จึงสมควรปรับปรุงวิธีการนำส่งเงินภาษีบางประเภทและการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมจากที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ พร้อมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร และปรับปรุงอัตราโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"

- สรุปคือ เพราะสมัยนี้อะไรก็ออนไลน์แล้ว กรมสรรพากรเลยอยากให้เราได้ยื่นแบบและจ่ายภาษีอากรทางออนไลน์ได้ด้วย (เพื่อความสะดวกรวดเร็วของพวกเราชาวไทยนะครับ กรมสรรพากรทำเพื่อเราจริง ๆ ครับ น้ำตาจะไหล) และเพื่อการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น เลยให้สถาบันการเงินช่วยเหลือในการแจ้งข้อมูลด้วย แถมกำหนดโทษเพิ่มสำหรับเจ้าพนักงานที่เอาข้อมูลเราไปเปิดเผยหรือใครที่ไม่ปฎิบัติตาม

---------- มีอะไรบ้างในร่างฯ ----------

- สำหรับหลักการที่ได้เสนอและรับหลักการแล้ว (หรือพูดง่าย ๆ คือ หัวข้อหลัก ๆ ซึ่งเนื้อหาที่กฎหมายจริงครอบคลุมจะไม่เปลี่ยนไปจากนี้) ทั้ง 5 ข้อนั้นคือ

  1. การเพิ่มวิธีนำส่งภาษี ทั้งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย/ภาษีเงินได้/ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  2. การเพิ่มวิธีการยื่นรายการหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์

  3. การเพิ่มหน้าที่รายงานข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากร

  4. การเพิ่มโทษสำหรับกรณีผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลไม่ดำเนินการตามคำสั่งอธิบดีกรมสรรพากร

  5. การเพิ่มโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูล ฯ

- สิ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่ถูกถามมาก ณ เวลานี้ ก็คือ ข้อ 3. บทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่รายงานข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากร ครับ (ซึ่งอย่างที่บอก แปลว่า ยังไงก็มีเรื่องนี้แน่ ๆ นะครับในกฎหมายฉบับจริง)

- ทีนี้ แม้หลักการดังกล่าวจะไม่เปลี่ยน ไม่หลุดหายไปไหน แต่รายละเอียดของหลักการนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยในร่าง พ.ร.บ. ฯ ที่ผ่านวาระที่ 1 มานั้น ระบุว่า

  1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (เช่น ธนาคารต่าง ๆ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์)

  2. สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น (เช่น ธกส. ธอส. บสย. ฯลฯ)

  3. ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน (เช่น e-wallet ทั้งหลาย ฯลฯ)

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับใครก็ตามที่มี 'ธุรกรรมลักษณะพิเศษ' ในแต่ละปี ให้กรมสรรพากรภายในมีนาคมของปีถัดไป (ช่วงเวลาเดียวกับที่เรายื่นภาษีเงินได้ประจำปีแหละครับ)

*** ไฮไลต์คือออออ ***

'ธุรกรรมลักษณะพิเศษ' ที่ว่า ในร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับล่าสุด มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง ถือว่าเข้าเงื่อนไขเลยนะครับ)

  1. ฝากหรือรับโอนเงิน ทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป ภายในปีนั้น

  2. ฝากหรือรับโอนเงิน ทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไป และ มียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ภายในปีนั้น

ซึ่งแน่นอนว่า กรอบเวลาในปีที่รวบรวมข้อมูล ก็น่าจะไม่พ้น ช่วง 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ตามปีภาษีครับ

**************

- เพราะฉะนั้น ในอนาคต ไม่ว่าคุณจะโยกเอาเงินฝากหรือเงินรับโอนไปไว้ที่ไหน ในมูลค่ารวมที่เยอะตามเกณฑ์ข้างบน และไม่ว่าจะรับจากใครก็ตาม (ไม่สนว่าได้รับจากการให้ หรือหลบภาษีเงินได้มา) ถ้าเข้าเงื่อนไข ก็จะถูกนำส่งกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติครับ เพราะถ้าไม่ส่ง ร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้ก็บอกไว้เช่นกันว่าธนาคารหรือสถาบันการเงิน ฯ เหล่านั้นจะโดนอะไรบ้าง เค้าคงไม่เสี่ยงแทนคุณแน่ ๆ ครับ

- ส่วนเรื่องรายละเอียดเชิงลึก เช่น บัญชีประเภทไหนที่นับรวม หรือ ถ้าแบ่งธุรกรรมเป็นหลายธนาคารแล้วแต่ละแห่งไม่เข้าเงื่อนไขจะโดนมั๊ย ฯลฯ ก็ขอให้ใจเย็นไว้ แล้วรอกฎหมายฉบับจริงดีกว่าครับ (จะมีกฎกระทรวงตามมาอีกที)

- ในประมวลรัษฎากรระบุไว้อยู่แล้ว (มาตรา 19) นะครับว่า กรณีที่เจ้าพนักงานกรมสรรพากรประเมินว่า ใครยื่นแบบไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่สมบูรณ์ ก็ให้กรมสรรพากรมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นภาษีมาสอบสวน และออกหมายเรียกพยาน สั่งให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาแสดงได้ ซึ่งต่อไปในอนาคต ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ฯ นี้ สำหรับหลักฐานทางบัญชีฝากหรือรับโอน กรมสรรพากรก็จะไม่ต้องรอประเมินก่อนแล้วค่อยเรียก ข้อมูลจะมาถึงโต๊ะเองเลยครับ!

- นอกจากนี้ รายละเอียดตามหลักการในข้อ 1. และ 2. บอกไว้ว่า ต่อไป เราจะสามารถยื่นแบบ ยื่นเอกสาร และจ่ายภาษี ทั้ง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ภาษีเงินได้ (ภงด.) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทางออนไลน์ได้เลยนะครับ นับเป็นความสะดวกที่เพิ่มขึ้นมาเยอะพอสมควรในยุค 4.0 แบบนี้

- ที่สำคัญ มีรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน ต่อร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้ ที่กรมสรรพากรได้จัดทำด้วย ซึ่งมีหลาย ๆ ข้อสงสัยที่ได้สรุปเป็นความคิดเห็นส่งไปแล้ว ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น เพิ่มจำนวนครั้งตามเงื่อนไขดีมั๊ย พ่อแม่โอนให้ลูกหรือเพื่อนช่วยแชร์ค่าอาหารจะนับยังไง แบบนี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใช่หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ฯลฯ ลองอ่านดูครับว่ากรมสรรพากรชี้แจงว่ายังไงบ้าง ลิงค์อยู่ด้านล่างครับ

---------- จะประกาศใช้เมื่อไหร่ ----------

- สถานะปัจจุบันของร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้คือ ผ่านวาระที่ 1 ของ สนช. (จากทั้งหมด 3 วาระ) มาแล้ว ซึ่งกำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

- ดังนั้น วาระถัด ๆ ไป ก็ 'น่าจะ' ไปตกในปีหน้า โดยวาระที่ 2 ตัวร่าง ฯ จะต้องผ่านด่านคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปี พ.ศ.2562 (ปกติ สนช. ประชุมกันประจำทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ทุกสัปดาห์ ยกเว้นกรณีพิเศษ) แล้วเข้าสู่วาระที่ 3 โดย สนช. ทั้งสภา ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ จะส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

- เพราะฉะนั้น การประกาศในราชกิจานุเบกษา ก็ 'น่าจะ' เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดภายในครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2562 (หากถูกระบุให้ประกาศใช้ทันที ตรงนี้ต้องติดตามต่อไป) ซึ่งในมาตรา 2 ตามร่าง พ.ร.บ. ฯ ให้บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจานุเบกษา

- แสดงว่า โอกาสที่รายการธุรกรรมทั้งหมดของเราในปี พ.ศ.2562 จะถูกนำส่งสรรพากรตามเงื่อนไขในร่าง พ.ร.บ. ฯ ก็เป็นไปได้สูงมากครับ! เพราะในมาตราที่ 5 เอง ก็บอกไว้ชัดเจนเลย ว่าต้องส่งรายงานเกี่ยวกับธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากร 'ครั้งแรก' ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563 !!!

- รายละเอียดที่ชัดเจน เกี่ยวกับกำหนดรายการข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษที่ต้องรายงาน จะมีกฎกระทรวงตามมาภายใน 120 วันหลังจาก พ.ร.บ. ฉบับจริงถูกประกาศใช้

---------- เริ่มเตรียมตัวตอนนี้ยังไง ----------

- "ไม่ได้ทำอะไรผิด จะกลัวอะไร" เป็นคำที่ผมพูดเสมอเมื่อแนะนำเรื่องการวางแผนภาษี เพราะฉะนั้น คนที่ทำถูกต้องอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากครับ เพียงแค่จัดระเบียบบัญชีให้เหมาะสม แยกให้ชัดเจน อันไหนเงินใช้ส่วนตัว อันไหนเงินหมุนหรือรายได้ในกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล อันไหนใช้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ฯลฯ พอแยกชัดเจน เวลายื่นไปจะได้ไม่สับสน ไม่วุ่นวายตอนที่ต้องอธิบาย และถ้าจดบันทึกรายละเอียดพร้อมเก็บหลักฐานไว้ได้ ก็น่าจะช่วยได้เยอะเลยครับ (เดี๋ยวนี้แอพพลิเคชันช่วยจดบันทึกมีเยอะมาก ใช้ดีใช้ง่ายมีเยอะครับ)

- เพราะการวางแผนภาษี คือการจัดการเพื่อให้เสียภาษีอย่าง 'ถูกต้องและถูกลง' ดังนั้น ใครที่ยังหลบเลี่ยง-หนีภาษีกันอยู่ สนแต่ถูกลงแต่ไม่สนถูกต้อง เช่น รับเอารายได้ของกิจการมาเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ หรือมีรายได้หลายทางแต่ไม่ยื่นภาษีให้ครบ ฯลฯ ก่อนอื่นต้องขอบอกเลยว่า ในขณะนี้คุณอาจกำลังทำผิดกฎหมายอยู่นะครับ! ไม่ยื่นภาษี เลี่ยงภาษี หนีภาษี ถือเป็นคดีอาญานะครับ ไม่รวมกรณีที่อาจจะโดนความผิดร้ายแรงฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๕) พ.ศ.๒๕๖๐ อีกด้วย (โดนคดีอาญาหรือคดีฟอกเงินติดตัวไป บอกเลยว่าไม่สนุกแน่ ๆ ครับ) ซึ่งแนะนำว่าให้รีบไปจัดการให้เสียเรียบร้อย ภาษีเป็นหน้าที่นะครับ ทำให้มันถูกต้องซะ แล้วจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ จดนิติบุคคล หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อะไรก็แล้วแต่ รีบไปทำนะครับ วิธีการวางแผนจัดการภาษีให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้นมีเยอะแยะมากมาย ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกันดูได้ครับ

- แนะนำว่าให้รีบจัดการให้ถูกต้องไว้ให้เร็วที่สุด เพราะอนาคตหากคนส่วนใหญ่ทำถูกต้องแล้ว คนส่วนน้อยที่ยังทำผิดจริง วงก็จะแคบลงเรื่อย ๆ โอกาสแจ็คพ็อตที่กรมสรรพากรจะมาจ๊ะเอ๋เจอคุณที่ยังทำผิดอยู่ก็ไม่ยากเลย เผลอ ๆ อาจจะง่ายกว่าถูกหวยอีกนะครับ!

อย่าลืมเตรียมตัวกันนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน!

 

ที่มา:

หนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ. ฯ ต่อ สนช. และบันทึกต่าง ๆ ที่ผ่านวาระที่ 1 - http://web.senate.go.th/bill/bk_data/402-1.pdf

รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฯ - http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/result_epayment2_100761.pdf

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๕) พ.ศ.๒๕๖๐ - http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law37-010460-1.pdf - http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/news/news16_2560.pdf

ประมวลรัษฎากร - http://www.rd.go.th/publish/315.0.html

41 views0 comments
bottom of page