top of page
  • PA

คำศัพท์พื้นฐานที่ต้องรู้หากอยากเข้าใจเรื่อง Blockchain และ Cryptocurrency


คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าหากในทุกวันนี้เราจะได้เห็นหรือได้ยินเรื่องของ bitcoin หรือ cryptocurrency แต่จริงๆ แล้วเรื่องของ Cryptocurrency นั้นเป็นเพียงหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain เทคโนโลยีที่มีจุดเด่นในเรื่องของการเป็นระบบ Decentralization มีความน่าเชื่อถือ และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ใครที่สนใจเรื่อง Blockchain แต่ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคืออะไร ลองดูเผื่อไว้เวลาไปเจอบทความหรือร่วมวงสนทนากลับใครแล้วมีการพูดถึงคำเหล่านี้ จะได้อ่าน พูดคุยแล้วเข้าใจได้มากขึ้น

Distributed Ledger Technology (DLT): เป็นคำที่ไม่ถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่ความจริงเป็นพระเอกที่อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง DLT เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ที่จะกระจายข้อมูลเก็บในหลายๆ ที่ ทุกคนในเครื่อข่ายหรือในระบบจะเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน (Decentralized) สามารถเอามาตรวจสอบกันได้ ทำให้การเก็บข้อมูลแบบนี้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีความปลอดภัยจากการถูกแก้ไขข้อมูลมากขึ้น ซึ่ง Blockchain ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบ DLT นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอื่นเช่น Tangle ของ IOTA ที่เป็น DLT แต่ไม่ได้เป็น Blockchain

Blockchain: เทคโนโลยีที่นำแนวคิด DLT มาใช้โดย Blockchain ถูกออกแบบให้มีการนำข้อมูลมาเก็บต่อกันเรื่อยๆ เป็นบล็อกๆ (Block) แล้วเอามาต่อกันเป็นโซ่ (Chain) โดยจะมีการตรวจสอบกับข้อมูลชุดก่อนหน้าอยู่ตลอดเวลาทำให้ข้อมูลในชุดถัดๆ ไปไม่สามารถถูกแก้ไขได้ เพราะการแก้ไขข้อมูลบล็อกใดบล็อกหนึ่งจะส่งผลกระทบกับข้อมูลในบล๊อกอื่นๆ ทั้งหมด

Cryptocurrency/ Digital Token/ Digital Asset: คำที่หลายๆ คนคงจะคุ้นหูที่สุดในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า Cryptocurrency แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกอย่างที่มีค่าซื้อขายกันในตลาดแลกแปลี่ยน (Exchange หรือกระดานเทรด) จะเป็น cryptocurrency ทั้งหมด บางตัวเหมาะที่จะถูกเรียกเป็น Digital Token หรือ Digital Asset มากกว่าขึ้นอยู่กับหน้าที่ของสิ่งนั้นคืออะไร เช่น bitcoin ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน เราสามารถเอา bitcoin ไปจ่ายซื้อของได้ bitcoin ก็ต้องถูกจัดเป็นค่าเงิน (currency) แต่อย่างเช่น OmiseGO (omg) ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ซื้อขายสินค้า แต่ถูกออกแบบไว้ให้เป็นการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบ omg ก็ควรถูกเรียกเป็น token มากกว่า

bitcoin: Cryptocurrency แรกของโลกที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาสร้าง โดยนำข้อดีในเรื่องของความโปร่งใส ความปลอดภัย และความที่ไม่มีเจ้าภาพตัวกลางมาเป็นตัวกำหนดกฎกติกาต่างๆ (Decentralized) มาสร้างเป็นสกุลเงิน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะได้ยินเรื่องของบิทคอยมามากในช่วงที่ผ่านมา แต่บิทคอยถือเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Blockchain

Ethereum: Cryptocurrency อีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่เหมือนระบบปฏิบัติการ (iOS, Windows) ที่ช่วยให้ Cryptocurrency หรือ Token ถูกสร้างและนำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น เปรียบเทียบได้กับการเป็น Windows และมีซอฟท์แวร์ตัวอื่นมาสร้างบน Windows อีกที ภายในระบบมีสิ่งที่เรียกว่า Smart Contract ที่ช่วยให้ระบบสามารถทำงานหรือทำธุรกรรมได้โดยอัตโนมัติ ผลผลิตสำคัญที่ออกมาจาก Ethereum ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น ICO, Initial Coin Offering หรือการออก currency/ token ใหม่มาระดมทุนขายให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ

DApp หรือ Decentralized Application: การนำ Blockchain มาสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีหลักการ Decentralized อยู่เบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น Decentralized Exchange (Dex) ที่เป็นเหมือนตัวกลางรับแลกเปลี่ยนหรือเทรด Cryptocurrency และ token ต่างๆ โดยอาศัยความเป็น Decentralized ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทตัวกลางที่จะอาจจะปิดเว็บและเก็บเงินหนีไปเมื่อไรก็ไม่รู้

PoW, Proof of Work: ในความเป็น Decentralized ยังจำเป็นต้องมีคนที่นั่งทำงานให้ระบบสามารถดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัด รูปแบบนึงที่เป็นที่นิยมคือคอนเซป Proof of Work หรือการขุดที่เราคุ้นเคย เป็นระบบที่ต้องมีนักขุดจำนวนมากทำหน้าที่แข่งกันแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์หรือการ์ดจอที่มีกำลังสูง จากการขุดนักขุดก็จะได้ค่าตอบแทนเป็น currency หรือ token ของระบบที่กำลังขุดอยู่ แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ข้อเสียใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องถกเถียงกันก็มีไม่น้อย ทั้งในเรื่องของการสิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์จากการให้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกทำงานแข่งกัน และการแฮคระบบผ่านการมีกำลังขุดมากกว่า 50% ของทั้งระบบ

PoS, Proof of Stake: อีกระบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือระบบ Proof of Stake ซึ่งเปรียบเสมือนการเอา token ไปฝากหรือไป Stake เอาไว้กับระบบ แล้วระบบจะทำการสุ่มเลือกคนที่นำ Token ไปฝากมาช่วยทำหน้าที่ในการคอนเฟิร์มธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบ โดยคนที่ได้รับเลือกจะได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่คอนเฟิร์มธุรกรรมเป็น token ซึ่งมีรูปแบบคล้ายการจ่ายเงินปันผล โดยในระบบนี้จะต่างจากการขุด (PoW) ตรงที่ประหยัดไฟกว่ามาก รวมถึงคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการรันระบบเป็นคนถือ Token เอง ไม่ใช่คนวงนอกเหมือนการทำ PoW (นักขุดไม่จำเป็นต้องถือเหรียญเก็บไว้) ซึ่งจากสองจุดนี้ทำให้ระบบ PoS ถูกมองว่าเป็นระบบที่สามารถปิดจุดเสียของระบบ PoW ได้

คร่าวๆ กันไปกับคำศัพท์แต่ละคำที่ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในเรื่อง Blockchain และ Cryptocurrency รายละเอียดในแต่ละเรื่องยังมีอีกค่อนข้างมาก ใครสนใจสามารถหาอ่านต่อได้ไม่ยากไม่ว่าจะ Google หรือ Youtube ส่วนใครสนใจอะไรตรงไหนคอมเม้นต์มาคุยกันได้เลยนะครับ แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าจะหยิบประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าต่ออีกเรื่อยๆ

650 views0 comments
bottom of page