#สรุป จากงานสัมมนา CFP Professional Forum ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ "จัดพอร์ตลงทุนอย่างมืออาชีพ" ซึ่งจัดขึ้น ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื้อหาจะจัดหนักจัดเต็มยังไง ติดตามได้ใน #สรุปเดียว แถ่น แทน แท๊นนนน .. ปุ้ง ปุ้ง ปุ้ง (เสียงพลุ)
1. คืองี้ .. สารภาพก่อนว่าแอบลอกแพทเทิร์นเพจ สรุป มาเลย อยากลองเขียนอะไรแบบนี้มั่งอ่ะ ขอทีนึงหน่านะ อย่าดุอย่าว่าอย่าตีผมเลย อีกอย่างเพราะงานวันนี้ก็ค่อนข้างกันเองด้วย ผู้บรรยายเล่าสนุก ใช้ภาษาง่าย ๆ งั้นตัวสรุปผมก็ไม่ควรจะทางการเหมือนกันใช่มั๊ย 55555 (ขออภัยสำหรับเรื่องภาษาไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ)
2. เอาใหม่ ๆ คืองี้ .. ปกติแล้ว สมาคมนักวางแผนการเงินไทยหรือเรียกย่อ ๆ ว่า TFPA เนี่ย เค้าจะจัดกิจกรรมสัมมนาแบบเนี้ยขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชาชีพด้านการเงินต่าง ๆ เข้ามาบรรยายให้ความรู้เสริมนอกตำราแก่นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินทุกท่าน เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้กับนักวางแผนการเงิน แล้วไม่ใช่แค่การวางแผนการลงทุนนะ ยังมีเรื่องของการวางแผนการประกันภัย การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก รวมถึงหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ นา ๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผนการเงินอีกด้วย พอดีว่าผมเองก็ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกที่ปรึกษาการเงินกับสมาคมฯ ด้วยเหมือนกัน เลยได้รับโอกาสมาฟังบรรยายดี ๆ แบบฟรี ๆ ดีจุงเบย
3. ซึ่งหัวข้อในเดือนนี้เป็นเรื่องของการวางแผนการลงทุน เจาะลึกไปในส่วนของการจัดพอร์ตลงทุน โดยผู้บรรยายในคราวนี้นั้น ทาง TFPA ได้รับเกียรติจาก คุณวิน พรหมแพทย์, CFA ที่มีดีกรีระดับอดีตหัวหน้ากลุ่มงานลงทุนของกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน รับผิดชอบเงินลงทุนร่วม 1.3 ล้านล้านบาท (แค่ล้านเดียวตัวผมเองยังเหนื่อยลากเลือดแล้วเลย นี่ล้านล้านบาท คุณพระ!) โดยปัจจุบันพี่วินดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี - พรินซิเพิล จำกัด (ชื่อยาวมาก ต่อไปจะย่อเหลือแค่ว่า CIMB ละกันนะ)
4. เนื้อหาการบรรยายในวันนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ครับ ได้แก่ 1) พื้นฐานการจัดพอร์ต ว่าด้วยเรื่องเบสิก ๆ กันก่อนนิดหน่อยเพื่อเป็นการเกริ่นนำ ต่อด้วย 2) การเลือกแนวทางการลงทุนในแบบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบนโลกนี้ในอนาคตข้างหน้า และสุดท้าย 3) เทคนิคการจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่า Asset Allocation ซึ่งในแต่ละส่วนผมจะไม่สรุปลงรายละเอียดมากนะครับ ไม่ต้องคาดหวังแบบคำต่อคำเลยนะบอกไว้ก่อนเดี๋ยวเสียใจกัน อยากให้เข้าใจตรงกันก่อน (และในจุด ๆ นี้ โดยส่วนตัวผมเองก็มางานนี้ด้วยเหตุผลว่าจะเจอการบรรยายในหัวข้อสุดท้ายนี้แหละ กะว่าจะได้เจอเนื้อหานี้แน่ ๆ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังจริง ๆ ซื้อล็อตเตอรี่ทำไมไม่ถูกแบบนี้มั่ง อ่อออ)
5. ในส่วนแรกที่เกี่ยวกับพื้นฐานการจัดพอร์ตลงทุนนั้น แรกสุดเลยพี่วินได้ชี้ให้เห็นถึงอัตราผลตอบแทนจากกลุ่มหลักทรัพย์เป็นระยะเวลา 1 ปีย้อนหลัง ที่มีการแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละกลุ่ม เช่น เงินฝาก หุ้น ทองคำ อสังหาฯ ตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ แต่ละอย่างนั้นมีความผันผวนอยู่และคาดเดาได้ยาก นักลงพุง เอ้ย! นักลงทุน! จึงควรที่จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (Diversification) ออกไปด้วยการจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) ที่เหมาะสม แต่การจัดพอร์ตตามแต่ละประเทศ (แบบว่า กองหุ้นญี่ปุ่น กองหุ้นสหรัฐอเมริกา ฯลฯ แบบที่เน้นเอาเฉพาะแต่ละสินทรัพย์ในแต่ละประเทศอ่ะ) มันเริ่มที่จะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่แล้ว เราอยู่ในปี ค.ศ.2016 แล้วนะเว้ย โลกทุกวันนี้มันไร้พรมแดนแล้ว ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกันหมด เพราะงั้นพี่วินเลยเสนอทางเลือกใหม่ด้วยการจัดพอร์ตตาม 'ธีม' (Theme) ของกระแสหลักหรือ Megatrend ในแบบต่าง ๆ เป็นทางเลือกไว้ให้ลองศึกษากันดู
6. แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องเมกะบางนา ไม่ใช่! เมกะเทรนด์! นั้นอ่ะนะ ขออธิบายเพิ่มว่าในขั้นตอนการจัดพอร์ตเนี่ย (อ้อ ก่อนจะไปต่อ ท่านใดที่ทราบและมีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนอยู่แล้วข้ามข้อนี้ไปได้เลยครับ เนื้อหาเหมือนกับที่ท่านร่ำเรียนมานั่นแหละ) อันดับแรกเลยสำหรับการวางแผนการลงทุนคือ การคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนตามผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยงที่สามารถรับได้ (ด้วยวิธีอะไรก็ไม่รู้แหละ ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงในสรุปนี้) แล้วนำมาจัดเป็นพอร์ตด้วยการจัดสรรการลงทุนเชิงกลยุทธหรือ Strategic Asset Allocation (ย่อว่า SAA) ซึ่งเป็นการวางแผนพอร์ตการลงทุนในระยะยาวตามความสามารถและความเต็มใจในการรับความเสี่ยง วางแผนว่าสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ในพอร์ตจะเป็นยังไงในระยะยาวเพื่อให้ผลตอบแทนบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ด้วยประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์แต่ละประเภทในพอร์ตด้วยว่าเป็นอย่างไร กระจายความเสี่ยงได้ดีหรือไม่ ซึ่งมาถึงตรงนี้เนี่ยจะเป็นแค่ในส่วนของการเตรียมตัวลงทุนให้พร้อมเท่านั้นนะ เมื่อเตรียมตัวเสร็จแล้วก็เริ่มลงทุนได้เลยตามแผน! (เย่ ๆ ได้ซื้อสักที รอมาตั้งนาน ถ้าวางแผนจริง ๆ เค้าไม่ได้แค่ว่าเดินกำเงินเข้าไปฟาดกันในตลาดเลยนะ) โดยมีการบริหารจัดการพอร์ตลงทุนด้วยการจัดสรรการลงทุนเชิงยุทธวิธี หรือ Tactical Asset Allocation (สายย่อเค้าว่า TAA) ซึ่งจะต้องคอยติดตามผลและปรับเปลี่ยนสัดส่วนพอร์ตตามภาวะตลาดในระยะสั้น ด้วยการควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตให้มีความสมดุลหรือ Portfolio Rebalancing อันเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการลงทุนระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนรวมทั้งนักวางแผนหรือที่ปรึกษาก็ต้องหมั่นทบทวนแผนและกลยุทธเหล่านี้อยู่เสมอตามช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม (TAA อาจจะทุกไตรมาสหรือทุกครึ่งปี ถี่ไปก็ไม่ดี ส่วน SAA ก็ตามอายุและระดับความสามารถในการรับความเสี่ยง)
7. ส่วนที่สองก็พูดถึงเรื่องแนวโน้มของ Megatrend ในอนาคต ซึ่งหลัก ๆ แล้วพี่วินได้ยกตัวอย่างมา 5 แนวโน้ม ได้แก่ - สังคมผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อสูง (Aging population and the Silver Age) - การเติบโตของรายได้ของชนชั้นกลาง (Rising income of the middle class) - การเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) - ความต้องการในโครงสร้างพื้นฐาน (The need for infrastructure) - เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิม ๆ (Disruptive Technology) ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้เป็นแนวโน้มหลักที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วโลก บางบริษัทบางการลงทุนจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่ในบางประเทศอีกต่อไป
8. ข้อแรก ในส่วนของสังคมผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อสูง (Aging population and the Silver Age) นั้น ก็มีข้อมูลจากกรณีศึกษาและงานวิจัยที่บ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะความมั่งคั่งของผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายที่เกิดในยุค Baby Boomer ที่กำลังจะเกษียณหรือเริ่มเกษียณกันไปแล้วนั่นแหละครับ ด้วยความที่คนที่เกิดในยุคนี้มักมีนิสัยที่ทำงานหนักและอดออมเก่ง (เฉลี่ย ๆ เอาทั้งโลกตามภูมิภาคนะ ในไทยที่อาจจะคนละเรื่องเลย จุดนี้ผมขอเสริมว่าจากที่เห็นจากหลายงานวิจัย ในไทยส่วนใหญ่มักจะออมกันไม่ค่อยอยู่ ขาดการวางแผน แถมไม่ค่อยลงทุนด้วย) ความมั่งคั่งในบั้นปลายชีวิตจึงมีมากพอที่จะใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เมื่อก่อนตอนทำงานไม่เคยได้ทำ บวกกับมีเวลาว่าง แถมได้เจอเพื่อนฝูง คราวนี้แหละครับแก๊งค์สูงวัยที่หัวใจวัยรุ่น ก็อยากจะใช้ชีวิตเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง อารมณ์แบบว่า ไปเที่ยวรอบโลก ซื้อรถหรูมาขับเล่น บินไปดูเทนนิสวิมเบิลดัน ว่างก็เล่นโยคะ ไม่ก็หาร้านอาหารอร่อย ๆ กินแล้วนั่งเม้ามอยถึงเรื่องเก่า ๆ กัน นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ก็ทำให้อายุขัยของคนกลุ่มนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้มีเวลาใช้เงินไปได้อีกเยอะ ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มสตรีสูงวัย มีเงิน แถมเค้าว่าเป็นผู้หญิงต้องห้ามหยุดสวย ก็จัดเลยครับ ตะลุยร้านเครื่องสำอาง ขนมาบำรุงผิวพรรณให้กลับไปดูเด็กอยู่เสมอด้วยเลย (มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ตลาดเครื่องสำอางนี่โตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปีกันเกือบทุกปีเลยนะครับตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่หลุดไปบางช่วงวิกฤตการเงินโลกปี ค.ศ. 2008 ว่ากันว่าเครื่องสำอางคือสินค้าชนิดสุดท้ายที่ผู้หญิงจะลดค่าใช้จ่ายลงหากต้องทำ) แถมจำนวนประชากรสูงวัยก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยในหลายประเทศ ตลาดใหญ่กำลังมา (ไทยก็หนึ่งในนั้นนะ อันนี้ผมเสริมให้)
9. ต่อมาข้อสอง การเติบโตของรายได้ของชนชั้นกลาง (Rising income of the middle class) ซึ่งในจุดนี้เนี่ย คนส่วนใหญ่ที่ขยับตัวเองขึ้นมาหรือเป็นชนชั้นกลางในประเทศที่กำลังพัฒนา บวกกับรายได้ที่เติบโตมา ก็มีแนวโน้มว่าจะบริโภคเยอะขึ้น (ดูตัวอย่างจากประเทศจีนสิครับ ออกมาใช้จ่ายบริโภคกันเยอะขนาดไหนจากการเติบโตภายในประเทศช่วงหลายปีก่อน) ซึ่งคงยากที่จะปฏิเสธว่า การบริโภคในรูปแบบงานปาร์ตี้สังสรรค์ของสังคมชนชั้นกลางที่มีประมาณเยอะและกระเป๋าตุงก็คงจะเยอะขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานปาร์ตี้ก็คืออออ ... อะไรนะ อ๋อ ยาคูลท์ เย้ย! ไม่ใช่ละ หมายถึงสุรานั่นแหละครับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชนิดนึงที่สามารถหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อสะท้อนการเติบโตของคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายเจ้าเอง ก็มีอัตราการเติบโตดีมากในแถบประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสำหรับแนวโน้ม Megatrend นี้จะพิจารณาแค่สุรากันเพียงอยางเดียวนะ เจ้าต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะเติบโตจากคนกลุ่มนี้ด้วย ว่าแล้วก็คอแห้ง เสี่ยวเอ้อ! เอามาสองจอก ..
10. ข้อสาม การเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) สัดส่วนประชากรในเมืองของหลาย ๆ หัวเมืองโดยเฉพาะเมืองหลวง ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนาเฉกเช่นประเทศไทยเป็นต้น ดังนั้น บริษัทหรือกิจการที่ผูกกับความเป็นเมืองอย่างเช่น ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ก็เติบโตได้ดีมาโดยตลอดในแต่ละพื้นที่ (ส่วนตัวผม ถึงแม้บางอุตสาหกรรมบางพื้นที่จะมีโอกาสที่จะกลายเป็นฟองสบู่ไปบ้างแล้วก็ตามในไทย แต่ก็ต้องถือว่าโตมาไกลมาก ทั้งจากปัจจัยข้อที่แล้ว และปัจจัยในข้อถัดไป) ซึ่งสินทรัพย์ประเภทกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นปัจจุบันก็แพงขึ้นมาค่อนข้างเยอะแล้ว อัตราผลตอบแทนหรือ Yield ก็ลดลงไปจากเมื่อก่อนพอสมควร กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยนั้นมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างน้อยกว่าเป็นสิบเท่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ แต่ความผันผวนนี่สูงใกล้เคียงกัน ด้วยสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อยแบบนี้ ลงทุนได้แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดี
11. ถัดมาในส่วนของความต้องการในโครงสร้างพื้นฐาน (The need for infrastructure) พี่วินก็ชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้ถือเป็นวาระระดับโลกเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีโอกาสส่งผลต่อการเติบโตที่ดีขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP กันค่อนข้างมาก ซึ่งในเอกสารประกอบการบรรยายก็มีข้อมูลประกอบว่า จากการศึกษาในกลุ่ม G20 แล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทุก ๆ 1% ของ GDP จะทำให้เกิดการขยายตัวของ GDP ได้สูงสุดถึง 2.5 เท่าในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ซึ่งในไทยเองนั้นก็ไม่น้อยหน้า โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นก็เรียงคิวกันมาตามแผน ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินลงทุนมหาศาลระดับล้านล้านบาท ใครจะได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้บ้างก็ลองไปติดตามดูกันได้ครับ ไม่ใช่แค่ในไทยนะแต่ทั่วโลกเลย พี่วินบอกใบ้มานิดนึงว่าให้พิจารณาการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคที่จำเป็น มีรายได้จากการให้บริการที่สม่ำเสมอ ไม่มีคู่แข่ง สินทรัพย์มีอายุยาว และไม่มีการแข่งขัน (การสร้างโครงการใหม่เพื่อมาแข่งขันนั้นไม่สามารถทำไม่ได้)
12. สุดท้าย เมกะเทรนด์ที่ฮอตฮิตที่สุดในตอนนี้ จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิม ๆ (Disruptive Technology) ซึ่งเป็นผลผลิตจากเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับโลกทั้งหลาย ที่พัฒนาสิ่งเหล่านี้ออกมากันอย่างไม่หยุดหย่อน ตัวอย่างเช่นบนโทรศัพท์มือถือที่บางคนอาจกำลังถืออยู่เพื่ออ่านบทความนี้ อุปกรณ์นั้นก็อาจจะเคยเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมาแล้วเช่นกัน แต่สิ่งที่อยู่ในนั้นก็มีอีกหลายอย่างที่กำลังจะเปลี่ยนโลกใบเดิมไปอีก เช่น การขยายตัวของสังคมออนไลน์ เกมส์ การซื้อขายของผ่านอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการหาคู่ (แน่ะ อย่าคิดลึก แค่หาคนรู้ใจ) เทคโนโลยีผ่านบริการในแอพพลิเคชั่นเหล่านี้เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้รายเดือนของบางบริการเพิ่มขึ้นเป็นตัว และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อไปอีกในอนาคตเช่นกัน แถมแนวโน้มของการที่คนจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้มาอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น จะดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง ซื้อของ เล่นเกมส์ ออกกำลังกาย ติดต่อเพื่อนฝูงและญาติสนิทมิตรสหาย ฯลฯ ก็สามารถใช้บริการพวกนี้บนมือถือได้แล้วทั้งนั้น
13. ทีนี้ .. พอได้เห็นภาพของแนวโน้มต่าง ๆ กันไปพอสมควรแล้ว ก็จะมาเข้าสู่เนื้อหาของการจัดพอร์ตด้วยการจัดสรรการลงทุนหรือ Asset Allocation กันแล้ว โดยในส่วนแรกนั้น พี่วินก็มีข้อมูลที่เคยเก็บมาของนักลงทุนสถาบัน ว่าแต่ละแห่งนั้นมีการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยสัดส่วนสินทรัพย์แบบไหนบ้าง ตัวอย่างเช่น พอร์ตของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พอร์ตของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และพอร์ตของบริษัทประกันในประเทศไทย ซึ่งพอร์ตเหล่านี้มีสัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้(เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ฯลฯ) ในประเทศค่อนข้างเยอะมาก แต่ก็เริ่มมีการเพิ่มขึ้นของการเข้าไปลงทุนในสัดส่วนอื่น ๆ เพื่อหาผลตอบแทนแล้ว เช่นตราสารทุนในประเทศ ตราสารหนี้หรือตราสารทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนพอร์ตของสถาบันต่างประเทศเช่น CalPERS ซึ่งเป็นกองทุนบริหารเงินเกษียณของชาวแคลิฟอร์เนีย หรือกองทุนบริหารเงินลงทุนของมหาวิทยาลัย Yale เองนั้น ก็มีสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป (CalPERS มีพอร์ตหลักอยู่ในตราสารทุนในประเทศ ส่วน Yale นั้นมีพอร์ตหลักอยู่ในการลงทุนทางเลือกหรือ Alternative Investment เช่น เฮดจ์ฟันด์ อสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นนอกตลาด เป็นต้น) ซึ่งในจุดนี้เอง ก็มีงานวิจัยของ Greenwich Associates ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนที่เข้ามาชี้อีกว่า ด้วยเพราะอุปนิสัยในการลงทุนที่แตกต่างกันไปของคนในแต่ละภูมิภาค แต่ละวัฒนธรรม แต่ละเชื้อชาติ ก็เลยทำให้พอร์ตของสถาบันในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างลูกหลานลุงแซมนี่ก็ชอบหุ้นมาก พอย้ายมาดูฝั่งยุโรปปุ๊บกลายเป็นว่ามีตราสารหนี้กับเงินสดเพิ่มขึ้นมาเพียบเลย ส่วนพี่ไทยซึ่งอยู่ใน Asia ex-Japan และญี่ปุ่นเองนั้น มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์พวกตราสารทุนและตราสารหนี้น้อยมาก ในเงินสดและเงินฝากระยะสั้น กลุ่มพี่ไทยนี่มีกว่าครึ่ง ส่วนญี่ปุ่นนี่ปาเข้าไป 80% ในส่วนนี้ ส่วนที่ดาวอังคารนั้นไม่มีข้อมูลครับ พี่วินไม่ได้บอก ผมเองก็ไม่ทราบ ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปถามผู้รู้ว่าลงทุนอะไรดีที่นั่น เห็นว่าจะไปลงทุนทำธุรกิจกันบนนั้นอยู่ด้วย ส่งอะไรไปขายนี่แหละผมจำไม่ได้เหมือนกัน
14. ดูฝั่งสถาบันกันไปแล้ว มาดูฝั่งนักลงทุนรายบุคคลกันบ้าง นักลงทุนรายบุคคลหรือรายย่อย(ยับ)นี้ ก็จะมีแนวทางที่นักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินนั้นให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตที่แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังของแต่ละบุคคลครับ จากขั้นตอนการจัดพอร์ตในข้อแรก ๆ นั้น CIMB และพี่วินก็มีคำแนะนำมาเสนอเป็นไอเดียด้วย โดยเราอาจจะแบ่ง SAA ออกเป็นหลายรูปแบบได้ ซึ่งตรงนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นกัน 4 แบบ เช่น - Conservative หรือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยชอบความเสี่ยง ขออะไรนิ่ง ๆ แน่ ๆ ได้ไหม ขึ้นรถเมล์สาย 8 ยังไม่กล้าเลย ก็อาจจะจัดให้เป็นส่วนของตลาดเงินและตราสารหนี้เยอะหน่อย - ถัดมาก็อีกกลุ่มที่เป็นพอร์ต Income หรือสร้างกระแสเงินสดเข้ามาเพื่อเอาไปไว้ใช้จ่าย เหมาะสำหรับเป็นแหล่งรายได้อีกทางของสายเปย์เป็นอย่างยิ่ง ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ มีตราสารทุนที่เติบโตดีและมีปันผลติดมาบ้างเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทน อะไรประมาณนี้ - ส่วนกลุ่มถัดไปก็คือกลุ่มยอดฮิตที่พี่วินบอกว่าไปบรรยายกี่ที พอให้โหวตกันก็มีแต่คนยกอันนี้ นั่นก็คือ Balance ซึ่งเป็นพอร์ตการลงทุนแบบผสมผสาน ลงมันหมดแทบทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ(นอกโลกยังไม่มีนะ) กระจายความเสี่ยงกันเป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคนที่รับความผันผวนขึ้นมาได้หน่อยเพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น - และสุดท้าย สำหรับขาซิ่ง เน้นผาดโผน ประเภทที่ว่าถ้ามีรถไฟเหาะนั่งไปทำงานได้ก็คงนั่งทุกวัน นั่นก็คือ Growth ซึ่งในพอร์ตแทบจะหาตราสารหนี้ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่มีแต่ตราสารทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรียกได้ว่าพอร์ตโตกันมหาศาล แต่เวลาพอร์ตเหวี่ยงไปติดลบหนัก ๆ ทีก็ต้องทำใจให้ได้นะ ซึ่งจุดนี้เราต้องวางแผนให้ดี ปรับสัดส่วนให้ดี ให้เหมาะสมกับการลงทุนของแต่ละคน
15. จากนั้นก็มาดูว่า ในความเป็นจริง SAA ที่ดีเนี่ยให้ประโยชน์ยังไง สมมติว่าจะวางแผนเกษียณให้มีเป้าหมายเพื่อมีเงินใช้หลังเกษียณได้จริงเนี่ย จะเอาเรื่องของการวางแผนการลงทุนมาจับด้วยเพื่อให้ผลตอบแทนมันงอกเงย จะทำได้มั๊ย? ทำได้รึเปล่า? พี่วินก็มีตัวอย่างหนึ่งของกรณีศึกษา เอาแบบว่าเป็นค่าเฉลี่ยของคนทั่ว ๆ ไปเลย สมมติเด็กวัยรุ่นคนนึง จบปริญญาตรีมาก็ทำงานเลย รายได้หรือเงินเดือนไม่เยอะมาก (ตีซะว่าเฉลี่ย 15,000 บาทต่อเดือน) เงินเดือนก็ขึ้นไม่เยอะ (เฉลี่ยปีละ 5.5%) ถ้าทำงานเก็บเงินไปเรื่อย ๆ สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่บ้าง (อัตราสะสม 5.45% ต่อปี และอัตราสมทบ 5.78% ต่อปีจากค่าเฉลี่ย) ซึ่งเป็นแค่กองเงินฝากและตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำเพราะเลือกลงทุนไม่เป็น (สมมติเฉลี่ยระยะยาว 3% ต่อปี) สรุปว่าในอนาคตหลังเกษียณตอนอายุ 60 แล้ว เงินไม่พอนะจ๊ะ มีเงินก้อนมาให้ใช้ ณ ตอนเกษียณแค่ 4 ล้านกว่าบาท อนาคตนี่โดนเงินเฟ้อ (เฉลี่ย 3% ต่อปี) กินเรียบ เงินก้อน 4 ล้านนั้นจะโดนใช้หมดเกลี้ยง อันตรธานหายไปตั้งแต่ 5 ปีแรกหลังเกษียณเลย (การใช้เงินหลังเกษียณด้วยสัดส่วน 50% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันรวมเงินเฟ้อในอนาคต) เห็นแบบนี้นะ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่กลัวกันเลย ไม่กลัวไม่พอ บางคนยังไม่เริ่มวางแผนด้วยซ้ำ (พี่วินบอกพี่ก็กลัว ผมเองก็กลัวครับ ตอนทำแผนเกษียณตัวเองนี่น้ำตาจะไหล) ทีนี้จะทำยังไงดีล่ะ ถ้าชีวิตมันเปลี่ยนไม่ได้ งานมันไม่ได้เปลี่ยนง่ายเหมือนถ่านไฟฉาย ไม่อยากยืดการเกษียณอายุออกไปอีกด้วย แก่แล้วอยากสบาย ก็ต้องวางแผนการลงทุนใหม่ครับ สมมติว่าน้องคนเดิมวางแผนใหม่ ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าไปลงทุนหาอัตราผลตอบแทนเพิ่มให้กับเงินเกษียณ (สมมติเฉลี่ยระยะยาว 7% ต่อปี) ผ่านการจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่ดี มี SAA&TAA ที่เหมาะสม เปลี่ยนแค่ตัวแปรเดียวนี้ ก็อาจจะมีเงินให้ใช้ถึง 8.8 ล้านบาทหลังเกษียณแล้วจากแผนเดิม เพิ่มตั้งเท่าตัวแน่ะ อยู่ได้สบาย ๆ เลย ยิ่งถ้าไปออมเพิ่มในส่วนของเงินสะสมนะ (เปลี่ยนอัตราเงินสะสมเป็น 15% กดสุดตามกฎหมาย) เงินก้อนนั้นจะมีโอกาสกลายเป็น 16.4 ล้านบาทได้เลย เกษียณเมื่อไหร่เรียกป๋าได้เลยครับน้อง
16. ซึ่งตัวอย่างของการจัดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนรายบุคคล โดยใช้การจัดสรรการลงทุนแบบ SAA เข้ามาช่วยเนี่ย ทาง CIMB ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดพอร์ตแบบสมดุลตามอายุ (Life Path หรือ Target Date) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยมาจากบริษัทแม่ของทาง CIMB อีกทีหนึ่ง ว่าสำหรับคนไทยแล้วเนี่ย ที่อายุเท่านั้นเท่านี้ จัดพอร์ตด้วยสัดส่วนไหนจึงจะเหมาะสม ตราสารทุนแค่ไหน ตราสารหนี้แค่ไหน การลงทุนทางเลือกเท่าไหร่ดี ก็ไปขอรับคำแนะนำเหล่านี้ได้จากนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินได้เลยครับ โดยผมขอเพิ่มเติมในส่วนของ TAA ด้วย ว่า TAA เนี่ยจะมีประโยชน์การช่วยให้เราสามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดนั้น ๆ เหมือนเป็นการกำหนดกรอบว่า ด้วยสัดส่วนบน SAA ที่เราได้วางแผนไว้สำหรับระยะยาวแล้วเนี่ย ควรมีกรอบให้ปรับเพื่อความยืดหยุ่นได้เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น สมมติ SAA วางแผนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไว้ 60% แล้วตอนนี้มองว่าตลาดหุ้นและกองทุนที่เราถือในอนาคตมีโอกาสเป็นขาขึ้น ก็อาจจะใช้หลักการของ TAA ในการปรับสัดส่วนมาไว้ในกองทุนรวมหุ้นเพิ่มเป็น 65% เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลประโยชน์ที่มากขึ้น แล้วก็คอย rebalance พอร์ตไปเรื่อย ๆ ซึ่งกรอบของ TAA นั้นก็ไม่ได้มีค่าตายตัวเช่นกัน แล้วแต่ความเหมาะสมครับ
17. สุดท้ายก่อนปิดงาน พี่วินก็ได้พูดถึงเรื่องของความไม่รู้ของนักลงทุน ที่เข้าไปลงทุนอะไรที่ตัวเองอาจจะไม่เข้าใจดี สุดท้ายก็โดงโกง โดนหลอก หมดเงินต้นไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อาจจะเพราะความโลภบังตาหรืออะไรก็ว่าไป ลูกค้าพี่วินหลายคนก็เป็นแบบนี้ (ประสบการณ์ส่วนตัวผมก็เช่นกันครับ เจอหลายคนแล้วที่หมดเงินหรือโดนหลอกไปกับขบวนการต้มตุ๋นหลอกลวง ลงทุนในตลาดหุ้นนี่กลัวกันมาก แต่กับบางแชร์ลูกโซ่นี่จัดหนักเลย) จึงถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินที่จะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำในการวางแผนการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้คนไทยต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้อีก เราเห็นกันตามข่าว ตามสื่อต่าง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพวกแชร์ลูกโซ่ หลอกว่าจะเอาเงินไปลงทุน ให้ผลตอบแทนดี ฯลฯ พวกนี้ก่อให้เกิดความเสียหายไม่เฉพาะแต่กับเจ้าของเงิน แต่ยังมีผลกระทบในวงกว้างกับชีวิตของใครอีกหลายคนที่เข้ามาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย
#สรุปโดยย่อ งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านการจัดพอร์ตลงทุนแบบมืออาชีพด้วยการจัดสรรการลงทุนหรือ Asset Allocation และมุมมองใหม่ ๆ ในแง่ของแนวโน้มการลงทุนตามเมกะเทรนด์หลักของโลก รวมไปถึงกรณีศึกษาการนำกลยุทธยังกล่าวไปใช้จริงเพื่อบรรลุเป้าหมายการวางแผนการเงิน ซึ่งด้วยผลลัพธ์จากกรณีศึกษาแล้ว การจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมจะสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ลงทุนว่าจะบรรลุเป้าหมายในการลงทุนที่ตั้งไว้ได้ในอนาคต สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความรู้เบื้องต้นในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ดังนั้นทุกคนจึงควรศึกษาไว้เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเงินของตัวเองก็จะดีไม่น้อย หรือถ้าไม่ถนัดก็สามารถขอคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินได้เช่นกัน
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit
หมายเหตุ
i) เนื้อหาในสรุปข้างต้นนี้ ไม่ใช่บทวิเคราะห์หรือข้อมูลที่ใช้ในการแนะนำการลงทุน ผู้ลงทุนที่ได้อ่านบทความนี้ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน พร้อมทั้งตัดสินใจด้วยเหตุและผลในการลงทุนหรือวางแผนการลงทุนของท่านอย่างเหมาะสม และไม่รับรองหรือการันตีความถูกต้องในการนำส่วนของข้อคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เขียนเองที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปประยุกต์ใช้ต่อไป ii) ผู้เขียนไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้เพื่อตัดสินใจลงทุนโดยตรง โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ของตัวนักลงทุนเอง ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ในผลกำไรอันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้ด้วยเช่นกัน iii) ตามประมวลจรรยาบรรณและความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพวางแผนการเงิน ว่าด้วยเรื่องความเป็นธรรม ผู้เขียนขอเปิดเผยข้อเท็จจริงและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ว่าผู้เขียนไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ อันสามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้ และไม่ได้ถูกว่าจ้างให้เขียนบทความนี้ขึ้น จากบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างในบทความนี้ บทความสรุปนี้ ผู้เขียนตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อตอบแทนความรู้ที่ได้รับมาในวันนี้ ด้วยการเผยแพร่ออกไปสู่คนไทยทุกคนตามเจตนารมณ์ส่วนตัวของผู้เขียน iv) สำหรับเนื้อหารายละเอียดในการบรรยาย ผมไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมาก แค่จับใจความสำคัญออกมา หากสนใจในรายละเอียดเชิงลึก สามารถติดตามได้จากเอกสารประกอบการบรรยาย ซึ่งถ้าได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เมื่อไหร่ จะนำมา edit ไว้ตรงนี้เลยครับ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ซึ่งเป็นแม่งานผู้จัดกิจกรรมนี้ (ขนมอร่อยมากครับ) และขอขอบคุณพี่วิน พรหมแพทย์, CFA วิทยากรผู้บรรยายที่มอบความรู้ มุมมองใหม่ ๆ และความสนุกในช่วงบ่ายวันจันทร์สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ ด้วยเวลาแค่ 2 ชั่วโมงแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพคับแก้ว ท่านใดสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารและบทความเกี่ยวกับการลงทุนจากพี่วิน ก็เข้าไปติดตามพี่วินได้ที่เพจ Invest Like A Pro ได้เลยครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit