top of page

20 เช็คลิสต์ มุ่งสู่อนาคตทางการเงินที่ดีกว่า


เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า .. การเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้


และเช่นเดียวกัน หากเราวาดฝันถึงอนาคตทางการเงินที่สดใสและดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เราสามารถเติมเต็มความสุขในชีวิตได้ด้วยความเป็นอยู่ทางการเงิน (Financial Well-being) ที่ดี การเริ่มต้นเตรียมความพร้อมทางการเงินด้วยตัวเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เราพร้อมทะยานไปสู่เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจ


วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ขอแนะนำ.. 20 เช็คลิสต์ เพื่อเริ่มต้นและมุ่งสู่อนาคตทางการเงินที่ดีกว่า ดังต่อไปนี้

  1. ศึกษาและพัฒนา ความรู้และทักษะด้านการเงิน (Improve your financial literacy) เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นเกราะป้องกันชั้นแรก (และสำคัญที่สุด) ในการบริหารจัดการและวางแผนการเงินส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีคอนเทนท์เนื้อหาสาระการเงินหลากหลายรูปแบบให้เลือกศึกษาได้ ทั้งยังสนุกไม่น่าเบื่อด้วย เช่น สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ฯลฯ

  2. เริ่มต้นคิด เรื่อง "การเงิน" อย่างจริงจัง (Start a money journal) ด้วยการทำความเข้าใจจริตและแนวคิด ที่เรามีต่อการบริหารจัดการการเงิน ทั้งความหวัง ความกลัว และภาพความสำเร็จของชีวิตและความสำเร็จทางการเงินที่เป็นตัวเรา เพื่อให้เราสามารถมองเห็นภาพเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมได้ หรือตรวจสุขภาพการเงินก่อนได้ ที่นี่

  3. วาดภาพเส้นทางของชีวิตและการเงินในระยะยาว (Write down your long-term life and financial goals) ลองวาดเส้นเหตุการณ์ของชีวิต (Life Timeline) ว่าในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละปีของชีวิตหลังจากนี้จนถึงวันที่จะต้องจากโลกนี้ไป จะมีเหตุการณ์อะไร ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือวางแผนว่าอยากให้เกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้เราได้ตระหนักถึงเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจน และเป้าหมายทางการเงินที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

  4. หมั่นตรวจสอบตัวเลขในบัญชีธนาคาร (Reconcile your bank accounts) เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบระดับสภาพคล่องของเงินฝากที่มีอยู่ในธนาคาร เพราะนี่คือสิ่งจำเป็นในการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ขัดสน และตรวจสอบว่ามันเพียงพอต่อ รายจ่ายจำเป็นรายวัน รวมถึงรายจ่ายที่มีกำหนดชำระ ในระยะสั้น ๆ สัก 3-6 เดือนด้วยหรือไม่

  5. เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของเงินฝาก (Compare interest rates for savings accounts) เพื่อให้เห็นภาพว่า เราจัดวางสินทรัพย์ที่แบ่งไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้ที่ไหนอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้เราไม่พลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยที่ยังควบคุมความเสี่ยง และมีสภาพคล่องพร้อมใช้อยู่เสมอ

  6. จ่ายเงินงวดให้มากขึ้น เพื่อเร่งปิดยอดบัตรเครดิต (Make an extra credit card payment) มองหาโอกาสในการเร่งปิดยอดหนี้คงค้างบนบัตรเครดิต โดยจ่ายเงินงวดเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อเร่งลดเงินต้นของยอดหนี้คงค้างบนบัตรเครดิตที่มีภาระดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปในอนาคต

  7. ลองคำนวณ "ความมั่งคั่งสุทธิ" ของเรา (Determine your net worth) ด้วยการจัดทำ "งบดุลส่วนบุคคล" จากการรวบรวมข้อมูลและมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่มี (ที่เราเป็นเจ้าของอยู่) พร้อมกับรวบรวมข้อมูลและมูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่ยังคงค้างอยู่ (ที่เรายังไม่ได้ชำระให้หมด) แล้วนำสินทรัพย์ทั้งหมด ลบด้วยหนี้สินทั้งหมด ก็จะได้ตัวเลข "ความมั่งคั่งสุทธิ" ซึ่งหมายถึงส่วนที่เป็นของเราจริง ๆ ในทรัพย์สินที่เรามี ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ หรือคำนวณได้จาก เครื่องมือนี้

  8. ประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในยามเกษียณ (Estimate how much money you need to retire) เคยลองคิดเล่น ๆ หรือยังว่าต้องเตรียมเงินไว้ใช้เท่าไหร่หลังเกษียณอายุ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะสังคมสูงวัยที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องดูแลตัวเองด้วยกำลังทรัพย์ของตน ถ้ายังไม่แน่ใจหรือไม่เคยลอง สามารถไปทดลอง วางแผนเพื่อการเกษียณแบบเบื้องต้น ได้ฟรีจาก เครื่องมือนี้

  9. รวบรวมและสรุปข้อมูลที่สำคัญของชีวิตเตรียมไว้ (Organize your important household and financial accounts) เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ หากคุณต้องจากไปก่อนหรือป่วยหนักกะทันหัน ก็ยังสามารถที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินต่อได้อย่างราบรื่น ด้วยการรวบรวมเอกสารสำคัญและข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า ให้ง่ายต่อการเข้าถึงและนำไปจัดการต่อได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

  10. ตั้งงบประมาณและติดตามการใช้จ่าย (Create a budget and track your spending) เพื่อควบคุมรายจ่ายไม่ให้เกินกว่าแผนการเงินที่วางไว้ ด้วยการบันทึกรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน ให้สามารถติดตามรายจ่ายและเก็บออมได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจ

  11. ตั้งค่ารายการเก็บออมและลงทุนแบบอัตโนมัติ (Automate your savings and investments) เพื่อให้เราไม่พลาดทุกรายการเก็บออมและลงทุน เราสามารถตั้งค่ารายการเก็บออมและลงทุนล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ สำหรับแผนการเก็บออมและลงทุนเป็นรายงวดอย่างต่อเนื่อง (DCA) พร้อมสมัครบริการหักบัญชีธนาคารโดยอัตโนมัติ (ATS) ให้ตัดชำระรายการออมและลงทุนจากบัญชีตามงวดโดยที่ไม่ต้องทำรายการด้วยตนเอง

  12. เก็บออมและลงทุนเพื่อแผนการเกษียณ (Contribute to a retirement savings plan) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่มีสวัสดิการจากนายจ้างเป็นเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อการเกษียณ (เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันสังคม ฯลฯ) ก็ควรที่จะต้องเริ่มเก็บออมและลงทุนเพื่อการเกษียณด้วยตนเอง เพื่อสร้างเงินทุนสำหรับการเกษียณไว้ดูแลตัวเองในยามแก่เฒ่า อย่าลืมว่าเริ่มเร็วดีกว่าเริ่มช้า หรือถ้าเริ่มได้ช้าก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย

  13. ซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Shop for insurance) วางแผนเลือกซื้อประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย ที่ช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากความเสี่ยงทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจากไปก่อนวัยอันควร ภาระค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น

  14. บริหารค่าใช้จ่ายรายเดือนให้น้อยลง (Look for ways to lower your monthly bills) สำหรับค่าใช้จ่ายบางรายการ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าบริการสตรีมมิ่ง ฯลฯ ลองมองหาโปรโมชันหรือแพ็คเกจที่ประหยัดลงแต่ยังใช้งานได้ใกล้เคียงเดิม เพื่อลดรายจ่ายที่เกินจำเป็นลงบ้างบางส่วนโดยไม่ต้องลดระดับคุณภาพชีวิต

  15. ขายของที่ไม่ได้ใช้แล้วเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน (Make some extra money by selling unwanted items) เช่น เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้บ่อย สินค้าไอทีตกรุ่น หรือเครื่องประดับที่พอจะขายต่อได้ ก็สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ใช้ไม่บ่อยเป็นเงินด้วยการนำไปขายต่อในตลาดมือสอง แทนที่จะปล่อยให้สิ่งของหรือทรัพย์สินเหล่านั้นเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาจนมูลค่าลดลง

  16. สร้างกระบวนการจัดการเอกสารสำคัญ (Create a personal document retention policy) บริหารจัดการเอกสารสำคัญให้เป็นระบบ เช่น สัญญาเช่า สัญญาสินเชื่อ เอกสารทางภาษี หรือเอกสารทางบัญชี หรืออาจใช้วิธีการแสกนและบันทึกเอกสารสำคัญเก็บเป็นไฟล์ไว้ เพื่อลดพื้นที่การจัดเก็บเป็นกระดาษ

  17. คุยเรื่องการเงินกับบุตรหลาน (Talk money with your child) ลองเริ่มต้นพูดคุยเรื่องการเงินกับบุตรหลานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้คุ้นชินกับเรื่องการเงินส่วนบุคคลตั้งแต่ยังวัยเยาว์ และทยอยสะสมความรู้ทางการเงินเพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ในชีวิตจริงในอนาคต หรืออาจมองหาเกมหรือกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ด้านการเงินไปพร้อมกับความสนุกก็ได้เช่นกัน

  18. เริ่มต้นเก็บออมเพื่อทุนการศึกษาบุตร (Start a college savings fund for your child) เพื่อการศึกษาที่ดีขึ้นในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ดังนั้น หากมีแผนที่จะเก็บเงินทุนไว้สนับสนุนการศึกษาให้บุตรในอนาคต ลองวางแผนเพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาบุตร ฟรีได้จาก เครื่องมือนี้

  19. เริ่มเขียนหรือปรับปรุงพินัยกรรม (Create or update your will) หากเคยเขียนพินัยกรรมแล้วก็อาจจะมองหาโอกาสในการปรับปรุง แต่ถ้ายังไม่เคยเขียน ลองปรึกษาทนายหรือที่ปรึกษากฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งต่อความมั่งคั่งให้เป็นไปตามแผนด้วยการจัดทำพินัยกรรม

  20. ทดลองนัดพูดคุยกับนักวางแผนการเงินมืออาชีพ (Make an appointment with a CERTIFIED FINANCIAL PLANNER professional) ด้วยมาตรฐานทางวิชาชีพระดับโลก อย่างคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ที่ได้รับคำปรึกษาหรือรับแผนการเงินไป สามารถมั่นใจได้ว่าแผนการเงินที่ได้รับจากนักวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิดังกล่าว จะมีความครอบคลุม ครบถ้วนทุกมิติการเงิน ยึดเอาเป้าหมายของลูกค้าเป็นสำคัญ และได้มาตรฐานตามหลักการเงินส่วนบุคคลและจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยลองปรึกษานักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงิน ของ สยาม เว็ลธ์ แมเนจเมนท์ ได้ ที่นี่


ด้วยความปรารถนาดีจาก #talktoKasidis และ #SiamWealthManagement


หมายเหตุ: ขอขอบคุณเนื้อหาจาก 20 WAYS TO JUMP-START YOUR FINANCIAL FUTURE ซึ่งเป็นบทความที่ถูกนำเนื้อหาบางส่วนมาดัดแปลงและปรับปรุงให้เข้ากับคนไทยมากยิ่งขึ้นในบทความนี้

 

ใช้ชีวิตเต็มที่กับวันนี้ และวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้เสมอ

LIVE YOUR TODAY. PLAN YOUR TOMORROW.


เนื่องจากในปี 2023 นี้ ทางคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB) ผู้ออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ได้รณรงค์ให้วันที่ 4 ตุลาคมของปีนี้ เป็น วันวางแผนการเงินโลก หรือ World Financial Planning Day เพื่อส่งเสริมให้องค์กรและบุคลากรในสายงานการวางแผนการเงินร่วมกันกระตุ้นและส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินในหัวข้อต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ทาง Siam Wealth Management จึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อร่วมในแคมเปญการรณรงค์ด้วยเช่นกันครับ


นอกจากนี้ ทาง สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ยังจัดกิจกรรม Financial Planning Clinic บริการให้คำปรึกษาวางแผนการเงินรายบุคคล 1:1 ที่จะทำให้คุณได้รับแผนการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของคุณ ในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 9.00 - 12.30 น. (แบ่งเป็น 3 รอบ) ทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meetings ซึ่งติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้จาก ที่นี่


หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความของเรา ก็สามารถแชร์บทความนี้ออกไปเพื่อร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าว ด้วยการแชร์และติด Hashtag #WFPD2023 ไว้ในโพสต์ด้วยนะครับ ^^


62 views0 comments
bottom of page