top of page

ภาษีกับเด็ก ๆ มากความสามารถ


วันเด็กแห่งชาติ เป็นวันที่เราจะได้เห็นความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการร้องเพลง กีฬา เต้นรำ การแสดง หรือแม้แต่ด้านวิชาการ ซึ่งหลายคนก็นำความสามารถเหล่านี้มาสร้างรายได้เป็นของตนเอง เป็นการแบ่งเบาภาระให้คุณพ่อคุณแม่อีกทางหนึ่ง ประเด็นทางภาษีกับเด็ก ๆ และคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไร ไปติดตามกันครับ...


เมื่อเด็ก ๆ ได้เงินรางวัล/ค่าตัวนักแสดง

หากเด็ก ๆ ใช้ความสามารถของตนเองไปประกวดหรือแข่งขัน เงินรางวัลที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 โดยหากได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ยกเว้นกรณีที่เป็นเงินรางวัลจากการประกวดหรือแข่งขันที่ทางราชการเป็นผู้มอบและเด็กไม่ได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน จะได้รับยกเว้นภาษี (หากมีอาชีพเช่นนั้น เช่น นักกีฬาอาชีพ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราขั้นบันได เมื่อได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป) ส่วนกรณีที่เด็ก ๆ ได้รับค่าตัวจากการแสดงความสามารถต่าง ๆ เช่น แสดงละคร ดนตรี เดินแบบ เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ฯลฯ เงินค่าแสดงที่ได้รับก็ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% เมื่อได้รับเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป เช่นเดียวกับเงินรางวัล (หากทางราชการเป็นผู้จ่ายเงินค่าแสดงตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%) และยังได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกด้วย

โดยกรณีเป็นการแสดงเป็นหมู่คณะ เงินที่ได้รับจะต้องเสียภาษีในนามคณะบุคคลก่อนเป็นขั้นแรก และเมื่อมีการแบ่งเงินดังกล่าวให้แก่นักแสดงแต่ละคน นักแสดงเหล่านั้นยังต้องนำเงินนั้นไปรวมคำนวณภาษีในนามตนเองอีก ดังนั้น กรณีนี้ขอแนะนำว่าควรจะตกลงกับผู้ว่าจ้างให้ว่าจ้างนักแสดงเป็นรายบุคคลให้ร่วมแสดงเป็นหมู่คณะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีภาระการเสียภาษีในระดับคณะบุคคล ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากในหลายขั้นตอน เช่น การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร การจัดทำรายงานบัญชีรับ-จ่าย

แต่หากงานที่เด็กทำนั้นไม่เข้านิยามของ “นักแสดงสาธารณะ” เช่น พิธีกรในงาน Event ดีเจวิทยุ พากย์ภาพยนตร์/การ์ตูน เงินค่าแสดงที่เด็กได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ซึ่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวิธีการเดียวกับเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) คือ คำนวณภาษีตามอัตราขั้นบันได 5-35% จากเงินได้สุทธิ ตามสมการ เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ


ผลต่อคุณพ่อคุณแม่

ถึงแม้ว่าเด็ก ๆ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินรางวัลหรือค่าตัวไปแล้ว แต่ก็ต้องยื่นแบบภาษีด้วยเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ใหญ่ โดยกรณีนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรมมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีแทนผู้เยาว์ ดังนี้

  • ภ.ง.ด. 94 หรือแบบภาษีเงินได้ครึ่งปี หากเด็กได้รับเงินได้ประเภทที่ 5-8 ในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีภาษีนั้นเกินกว่า 60,000 บาท

  • ภ.ง.ด. 90 หรือแบบภาษีเงินได้สิ้นปี หากเด็กได้รับเงินได้ต่าง ๆ ตลอดปีภาษีเกินกว่า 60,000 บาท

สำหรับค่าลดหย่อนบุตรนั้น โดยปกติผู้มีเงินได้จะสามารถหักลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ได้คนละ 30,000 บาท (กรณีเป็นบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท) แต่เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ หากบุตรคนนั้นได้รับเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่จะหักลดหย่อนบุตรคนนั้นไม่ได้ (30,000 บาทพอดีก็ไม่ได้นะครับ) ยกเว้นกรณีบุตรผู้เยาว์มีเงินได้ประเภทเงินปันผล ซึ่งถือเป็นเงินได้ของคุณพ่อ หากคุณพ่อและคุณแม่อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี หรือฝ่ายที่ใช้อำนาจปกครองบุตร หากคุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี (แต่ถ้าใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน จะถือเป็นเงินได้ของคุณพ่อเช่นเดียวกัน)

เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถมากกว่าที่พวกเราคิด ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ ช่วยเด็ก ๆ ค้นหาความสามารถของตนเอง และสนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงความสามารถเหล่านั้นออกมา ที่สำคัญก็คือ หากเด็ก ๆ มีรายได้จากการใช้ความสามารถที่ตนเองมี ก็อย่าลืมวางแผนภาษีให้พวกเขาด้วยนะครับ...

ติดต่อผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/vinaya.chysirichote หรือ LINE: vinayachy

อ้างอิง

ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ข) วรรคสอง, 42 (11), 47 (1) (ค), 50 (1) วรรคหนึ่ง (4), 56 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง, 56 ทวิ, 57, 81 (1) (ฒ)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ข้อ 2 (2) (3) (ข)

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 9 (1) (2) (ข), 12/7

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 102/2544 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง ข้อ 2-3, 7 (2) (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8369/2551

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/7831 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543, กค 0706/2886 ลงวันที่ 5 เมษายน 2549, กค 0706/3313 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549, กค 0706/6490 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2549


#วันเด็กแห่งชาติ #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #นักแสดงสาธารณะ #SiamWealthManagement #VinayaChy

2,311 views0 comments

Comments


bottom of page