top of page

เงินทองต้องยิ่งใส่ใจ ในโลก VUCA


Financial Planning in VUCA World

ในโลกทุกวันนี้ ท่ามกลางความรวดเร็วในกระแสธารของการแข่งขันเพื่อพัฒนาและก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ ความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิศวกรรมแขนงต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสำรวจแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ นอกโลกใบนี้ ฯลฯ จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ของโลกในอนาคต ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนยากเกินจะคาดเดาและคาดการณ์อย่างมั่นใจได้ว่า การใช้ชีวิตในอนาคตของเรานั้นจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากแค่ไหน

ซึ่งนอกจากเรื่องที่ผลักดันให้โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหล่านี้แล้ว ก็ยังจะรวมไปถึงความไม่แน่นอนของภัยร้ายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ภัยธรรมชาติที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ทรัพยากรที่เริ่มจะขาดแคลน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง รวมถึงความผันผวนทางการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้อะไร ๆ ก็ดูคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลา จนอาจไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน


VUCA จึงเป็นชื่อย่อที่ใช้เรียกแทนนิยามของปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่นับจากนี้ไป โดยเป็นการย่อมาจากคำว่า Volatility (ความผันผวน) + Uncertainty (ความไม่แน่นอน) + Complexity (ความซับซ้อน) + Ambiguity (ความคลุมเครือ) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ต่าง ๆ นา ๆ ทั้งในแง่ร้ายและแง่ดี ที่ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังยากที่จะคาดเดา และอาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ณ เวลาใดเมื่อไหร่ก็ได้ ... และกับชีวิตของใครก็ได้


และเพราะเรื่องการเงิน ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มชีวิตในด้านอื่น ๆ ให้ประกอบขึ้นมาเป็นความสุข จึงทำให้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า หากไม่มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือให้ดีแล้ว เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของเรานั้น ก็อาจจะ VUCA ไปพร้อมกับโลก และพาให้ชีวิตนั้นลุ่ม ๆ ดอน ๆ แบบ VUCA ไปด้วย จนอาจไม่มีความสุขได้เช่นกัน


ดังนั้น การสร้างความพร้อมและความมั่นใจทางการเงินของชีวิตในโลกยุคนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอันดับต้น ๆ ของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแนวทางที่จะสามารถใช้ในการรับมือกับแต่ละปัญหาในโลก VUCA ทางการเงิน ให้เกิด "ความมั่งคั่งที่มั่นคง" ได้ ไม่ลุกลามมาเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิตนั้น ก็สามารถแบ่งออกมาได้ดังนี้


Volatility หรือ ความผันผวน สามารถรับมือได้ด้วยการสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน และทางเลือกในการปรับตัวทางการเงิน

เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถการันตีได้แน่นอน ยิ่งผนวกเข้ากับความผันผวนที่ทำให้ผลลัพธ์อาจเกิดขึ้นได้หนักเบาแตกต่างกันไปในหลายรูปแบบ ดังนั้น การสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน ด้วยแผนการเงินที่พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรง และการมีแผนสำรองเผื่อฉุกเฉินเพื่อเป็นทางเลือกเมื่อจำเป็นต้องปรับตัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องลงมือคิดและวางแผนรอไว้ล่วงหน้า ให้พร้อมรองรับเซอร์ไพรส์ต่าง ๆ ได้อย่างอุ่นใจ รวมถึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อให้การตัดสินใจนั้นรวดเร็วและทันท่วงทีต่อปัญหาที่พุ่งเข้ามาอย่างกะทันหัน ลดปัญหาความไม่พร้อมกับการจัดการในเรื่องที่ไม่ทันตั้งตัว


Uncertainty หรือ ความไม่แน่นอน สามารถรับมือได้ด้วยการทำความเข้าใจในสถานการณ์ทางการเงินปัจจุบัน และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ

เพราะความไม่แน่นอน (Uncertainty) ไม่ใช่ความเสี่ยง (Risk) แถมยังจัดการได้ยากกว่าความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างและรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น หากเราเข้าใจสถานะทางการเงินในปัจจุบันอย่างละเอียด มีการจัดทำงบการเงินเพื่อสะท้อนถึงฐานะทางการเงิน ความมั่งคั่ง และกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และมีการตรวจวัดสุขภาพทางการเงินอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ทั้งในเรื่องการจัดการสภาพคล่อง ปัญหาภาระหนี้สิน และการออมและลงทุนเพื่ออนาคต ก็จะทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนใหญ่ ๆ ที่เป็นความเสี่ยงทางการเงิน และสามารถประเมินผลกระทบเพื่อเตรียมความพร้อมและรีบจัดการตามลำดับความสำคัญ


Complexity หรือ ความซับซ้อน สามารถรับมือได้ด้วยการวางแผนด้านการเงินอย่างรอบคอบและรอบด้าน

เพราะเรื่องการเงินมีหลากหลายมิติ แบ่งออกได้อีกหลายประเด็นที่เชื่อมโยงถึงกัน เช่น การก่อร่างสร้างความมั่งคั่งอย่างเป็นระบบ การป้องกันและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การสะสมความมั่งคั่งไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมไปถึงการต่อยอดเพิ่มพูนความมั่งคั่งด้วยการลงทุน และการส่งต่อความมั่งคั่งที่มีไปยังคนข้างหลังเมื่อต้องจากไป ดังนั้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ขาดตกบกพร่องในบางเรื่องไป จึงต้องวางแผนการเงินให้ครบถ้วน อย่างรอบคอบและรอบด้าน แบบบูรณาการทุกเรื่องเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความกระจ่าง ชัดเจน ลดความซับซ้อนและซ้ำซ้อนในขั้นตอนการจัดการเรื่องเงิน ให้เงินของเราทุกบาททุกสตางค์ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Ambiguity หรือ ความคลุมเครือ สามารถรับมือได้ด้วยการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่หนักแน่นและชัดเจน

เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า และท่ามกลางความคลุมเครือที่ไม่ชัดเจนของอนาคตโลกและสภาพแวดล้อม หากเรามีเป้าหมายทางการเงินที่เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ เป็นรูปธรรม และสามารถลงมือทำจนบรรลุได้ ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ (SMART Target) จะทำให้เราเห็นภาพของจุดมุ่งหมายทางการเงินส่วนตัวในแต่ละด้าน และสร้างหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้เราไม่ไขว้เขวไปตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นที่เกิดขึ้นรอบตัวจากความคลุมเครือที่เคยมี ลดผลกระทบที่มาจากปัจจัยภายนอก ปรับโฟกัสให้สามารถมองเห็นอนาคตทางการเงินได้อย่างชัดเจนแม่นยำมากขึ้น และยังเป็นแม่แบบของการสื่อสารบุคคลรอบข้างที่ชัดเจน กระชับ หนักแน่นด้วยเหตุผลที่จะลงมือจัดการปัญหาทางการเงินและชีวิตต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ทิศทางที่ยังคงมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย


ซึ่งแนวทางในการในการรับมือแต่ละปัญหาข้างต้นนั้น ก็สอดคล้องไปกับ 6 ขั้นตอนมาตรฐาน ในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่นักวางแผนการเงินทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการให้บริการ เพื่อทำให้สามารถรับมือกับปัญหาและความต้องการทางการเงินได้อย่างครบถ้วน ได้แก่

  1. รวบรวมข้อมูล ซึ่งถือวัตถุดิบหลักที่สำคัญในการวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถานะทางการเงิน ข้อมูลด้านการงาน สุขภาพ และความเสี่ยงอื่น ๆ

  2. กำหนดเป้าหมาย ตั้งธงหรือหมุดหมายที่ชีวิตต้องการจะไปให้ถึง ด้วยหลัก SMART Target ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยกำหนดเป้าหมายให้โฟกัสได้ชัดเจนและตรงจุดมากยิ่งขึ้น

  3. วิเคราะห์ข้อมูล สำรวจสถานะทางการเงินว่าปัจจุบันนี้อยู่ตรงไหนและอีกไกลเท่าไหร่ว่าจะถึงเป้าหมาย ตรวจสุขภาพทางการเงิน ค้นหาจุดอ่อนเพื่อปรับปรุง และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ

  4. วางแผน อย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อคลี่คลายความซับซ้อนของปัญหาและจัดระเบียบวิธีจัดการออกมาเป็นแผนที่ทำได้จริง และยืดหยุ่นเพียงพอให้ปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้และยังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย

  5. ลงมือทำ เพราะแม้จะมีแผนการที่ดีและสมบูรณ์แบบ แต่เป้าหมายจะเป็นจริงไม่ได้หากไร้ซึ่งการปฎิบัติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง พร้อมด้วยความเข้าใจในแผนและวินัยทางการเงิน

  6. ติดตาม อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุงแผนให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เพื่อเดินหน้าสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

6 Steps of Financial Planning
6 ขั้นตอนสำคัญ ในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ของนักวางแผนการเงิน

และหากเป็นไปได้ ควรเริ่มต้นอนาคตของคุณในโลก VUCA นี้ทันที เพราะหากเพิ่งเริ่มในวันนี้ บางครั้งบางที .. ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว


ด้วยความปรารถนาดีจาก #talktoKasidis และ #SiamWealthManagement

 

ใช้ชีวิตเต็มที่กับวันนี้ และวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้เสมอ LIVE YOUR TODAY. PLAN YOUR TOMORROW.


เนื่องจากในปี 2021 นี้ ทางคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB) ผู้ออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ได้รณรงค์ให้วันที่ 6 ตุลาคมของปีนี้ เป็น วันวางแผนการเงินโลก หรือ World Financial Planning Day เพื่อส่งเสริมให้องค์กรและบุคลากรในสายงานการวางแผนการเงินร่วมกันกระตุ้นและส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินในหัวข้อต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ทาง Siam Wealth Management จึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อร่วมในแคมเปญการรณรงค์ด้วยเช่นกันครับ


หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความของเรา ก็สามารถแชร์บทความนี้ออกไปเพื่อร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าว ด้วยการแชร์และติด Hashtag #WFPD2021 ไว้ในโพสต์ด้วยนะครับ ^^

97 views0 comments
bottom of page