สืบเนื่องจากกระทู้ ซีเรียสเรื่องวิธีเก็บเงินกันไปทำไมครับ ทำไมไม่โฟกัสเรื่องหาเพิ่ม ผมว่าประเด็นนี้ก็น่าคิดเหมือนกันนะครับ
เจ้าของกระทู้เองมาตั้งคำถามเรื่องการออมเงิน ว่าเราควรโฟกัสไปที่ "การออม" หรือ "การหารายได้" มากกว่ากัน แล้วก็มีผู้มาตอบแสดงความคิดเห็นกันในหลายแง่มุม
โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเองมักเริ่มจากสมการนี้ก่อนเสมอครับ
" รายได้ - เงินออม = รายจ่าย "
เพราะสมการการออมนี้ ผมว่ามันมีนัยยะแฝงอยู่หลายแง่มุมด้วยกัน คือ
ถ้าพูดถึงเรื่องความ 'รวย' หรือ 'ความมั่งคั่ง' ลองสังเกตดูครับว่าเวลาที่เราเห็นการเปรียบเทียบทำเนียบเศรษฐีตามสื่อต่าง ๆ นั้น คำว่า 'รวย' หรือ 'เศรษฐี' นั้นก็ไม่ได้วัดกันว่าใครมีรายได้เยอะกว่ากันเลย แต่วัดกันที่สินทรัพย์สุทธิ (Net Worth หรือสินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน) ต่างหาก ดังนั้น ส่วนที่สร้างความมั่งคั่งหรือสร้างสินทรัพย์ที่เป็นของเราเองนั้นคือเงินออม จะเปรียบเงินออมเป็นประตูสู่ความมั่งคั่งก็ว่าได้ครับ
จากสมการง่าย ๆ ข้างบนแล้ว การที่จะเพิ่มเงินออมนั้นมีสองวิธี คือ (1) เพิ่มรายได้ หรือ (2) ลดรายจ่าย หรือทำมันทั้งคู่ ซึ่งก็ไม่ได้มีกฎหรือบทบัญญัติใด ๆ ระบุว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง หรือทำพร้อมกันหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเราให้ความสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง เงินออมจึงสำคัญกว่ารายจ่าย ดังนั้นเงินออมจึงเป็นจุดมุ่งหมายแรกของรายได้ ก่อนจะตกไปถึงรายจ่าย
วิธีการลดรายจ่าย ส่วนตัวผมถือเป็นการเพิ่มเงินออมในระยะสั้นเท่านั้นครับ (จะว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นก็ได้) เนื่องจากเราสามารถเลือกตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง เกินตัว หรือไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพออกไปได้ทันที ลดรายจ่ายวันนี้ เงินออมก็เพิ่มวันนี้เลย แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะว่าบางครั้งบางกรณีมันก็อาจจะกระทบกับคุณภาพชีวิตด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมก็มักจะไม่แนะนำให้ใครลดระดับคุณภาพชีวิตเลยหากไม่จำเป็น
ซึ่งวิธีการเพิ่มรายได้ ให้มีรายได้หลายช่องทาง จึงถือเป็นการเพิ่มเงินออมในระยะยาว(หรือการแก้ปัญหาในระยะยาว)สำหรับผมครับ เพราะเราต้องใช้เวลากับมันในการสร้างรายได้ขึ้นมา ไม่สามารถหามาได้ในเร็ววัน เริ่มหารายได้วันนี้อาจจะไม่ได้มีรายได้จริงเข้ามาวันนี้ก็ได้ เช่น การทำงานเสริม การทำธุรกิจ การลงทุน ฯ กว่าจะผลิตสินค้า กว่าจะเตรียมการบริการ กว่าจะหาลูกค้า มันก็ใช้เวลาทั้งนั้น แต่พอหาได้แล้ว มันก็มีโอกาสที่จะอยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน และอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ มันก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกันเพราะเราเองก็ไม่สามารถการันตีว่าจะได้มันมาจริง 100% ชัวร์ ๆ หรือไม่
ประกอบกันทั้ง 2 แง่มุมแล้ว ทั้งสองวิธีนั้นสำคัญทั้งคู่ครับ แต่มันขึ้นอยู่กับภาวะการเงินและความพร้อมของแต่ละบุคคลว่าสามารถทำอะไรได้ตอนไหน เรื่องนี้มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เลยครับ ไม่มีสูตรตายตัวใด ๆ มาใช้ได้เลย อย่างเก่งก็แค่ rule-of-thumb หรือกฎง่าย ๆ ที่ให้เราออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ (ย้ำนะครับว่าอย่างน้อย) เท่านั้น การจะบอกว่าใครต้องหารายได้เท่าไหร่ ลดรายได้เท่าไหร่ ต้องทำอย่างละเอียดจริง ๆ ครับถึงจะรู้ได้
พอเพิ่มเงินออมแล้ว จะเอาเงินออมนี้ไปทำอะไรต่อ ดองไว้เฉย ๆ ในบัญชีออมทรัพย์ ซื้อสลากออมสิน จัดพอร์ตลงทุนกองทุนรวม ทำธุรกิจเอง ซื้อหุ้น เหมาที่ดิน ตุนทอง แลกเป็น Bitcoin ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปครับ แล้วแต่ความเสี่ยงที่รับได้และอัตราผลตอบแทนที่ต้องการตามแผนที่วางไว้
ลองเก็บไปนอนคิดดูเล่น ๆ กันนะครับ ว่าเรานั้นต้องเน้นจุดไหน โฟกัสเรื่องไหน
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit