top of page

วางแผนการเงินเท่ากับขายผลิตภัณฑ์ .. อย่างงั้นหรือ?

Updated: Jan 21, 2020


"วางแผนการเงิน = ขายผลิตภัณฑ์" อย่างงั้นหรือ? ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้ คำว่า "วางแผนการเงิน" นั้น มักถูกคนมองและตีตราว่าเป็นลูกเล่นใหม่เพื่อใช้แอบอ้างในการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ (ไม่ว่าจะประกัน กองทุนรวม หรืออะไรก็แล้วแต่) โดยที่อาจไม่ได้มีการวางแผนอย่างจริงจัง แต่เป็นการพูดเพื่อเปิดทางมาเสนอขายอย่างเดียวเสียมากกว่า ซึ่งคำ ๆ นี้ หลายต่อหลายครั้ง มันก็ถูกนำไปใช้ผิดวิธี ผิดวัตถุประสงค์ กันมาอย่างเนิ่นนาน จนกลายเป็นว่าทำให้คนไม่อยากจะวางแผน เพราะกลัวการถูกขาย หรือเปลี่ยนทัศนคติเป็น "มาวางแผน = มาขาย" อย่างที่เห็นกัน ก่อนจะไปว่ากันต่อ เพื่อจะทำความเข้าใจกันใหม่ในการตอบคำถามข้างบนที่ว่า "วางแผนการเงิน = ขายผลิตภัณฑ์" จริงหรือไม่? ก็อยากขอให้ทุกท่านถอดมายาคติ(หรืออคติ)ของคุณที่อาจจะมีอยู่ออกไปเสียก่อน แล้วเรามาทำความเข้าใจกัน เคลียร์กันตรงนี้ก่อนว่า "การวางแผน" โดยทั่วไปนั้น ถูกนิยามว่า เป็นกระบวนการเพื่อกำหนดและกำกับ 'ทางเดินที่เหมาะสมที่สุด' จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้าย โดยมุ่งหวังว่าจุดสุดท้ายที่ระบุเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจงและวัดผลได้นั้น จะสามารถบรรลุได้ตามที่ตั้งใจไว้ในตอนแรกด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และความเป็นจริง ถ้าไม่เข้าใจในจุดนี้ แนะนำให้อ่านทวนอีกรอบครับ เพราะนี่คือแก่นของแนวคิดในการ 'วางแผน' ในทุกเรื่อง (ย้ำนะครับว่าตรงนี้ เอาแค่การวางแผนนะ จะวางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นคุณก็ต้องทำตามคอนเซ็ปนี้ป่ะ ต้องรู้ก่อนว่าจะไปเมืองไหน ตอนนี้มีเงินเก็บเท่าไหร่ ถึงจะรู้ว่าต้องเก็บเพิ่มยังไง เดินทางไปยังไง เที่ยวไหนมั่ง เตรียมเสื้อผ้ายังไง ฯ) ซึ่งพอเอาคอนเซ็ปนี้มาใช้กับเรื่องเงิน สำหรับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล มันก็คือการที่เราสร้างแนวทางสำหรับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อันเป็นทรัพย์สินของเรา โดยเริ่มจากทำความรู้จัก 'จุดเริ่มต้น' หรือฐานะทางการเงินในปัจจุบัน แล้วหาทางเพื่อให้จุดสุดท้ายหรือ 'เป้าหมาย' หรือฐานะทางการเงินของเราสามารถบรรลุได้ตามที่ใจหวัง ผ่านแผนต่าง ๆ ที่วางไว้อย่างเหมาะสมกันกับทั้งจุดเริ่มต้นและเป้าหมาย ทีนี้ ด้วยจุดเริ่มต้นของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาเพียบพร้อม บางคนเกิดมาต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ พื้นฐานการเงินก็แตกต่างกันออกไป บวกกับความเข้าใจในเรื่องของการเงินก็ไม่เท่ากัน เท่านั้นยังไม่พอครับ เป้าหมายของแต่ละคนก็ยังแตกต่างกันอีก บางคนอยากรวยสิบล้านร้อยล้าน บางคนขอแค่ตอนแก่มีเงินใช้ไม่ขัดสนก็พอ ด้วยความแตกต่างเหล่านี้ ทำให้ทางเดินด้านการเงินของแต่ละคนนั้นเรียกได้ว่า "แทบจะไม่มีทางเหมือนกัน" เลยก็ว่าได้ การวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับฐานะและเป้าหมายของแต่ละบุคคลจึงเป้นเรื่องสำคัญ ซึ่งขั้นตอนเฉพาะในส่วนของการทำแผนการเงิน จะไม่มีตรงไหนเลยที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเราต้องใช้ผลิตภัณฑ์การเงินใด ๆ จนกว่าจะแผนจะเสร็จแล้วเรียบร้อยแล้ว เพราะเราต้องคิดคำนวนก่อนว่า สิ่งที่มีกับสิ่งที่ต้องการ มันต่างกันแค่ไหน และด้วยสถานะตอนนี้มันเพียงพอหรือไม่ แล้วจึงค่อยไปหาผลิตภัณฑ์ ไปหาเครื่องมือที่มันตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ดังนั้น การซื้อผลิตภัณฑ์จึงไม่เท่ากับการวางแผน แต่เป็นการวางแผนที่ทำให้เกิดการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญ "ผลิตภัณฑ์ก็อาจจะไม่ต้องตามมาเลยก็ได้" ผมเน้นประโยคสุดท้ายเป็นพิเศษ (เน้นจนไม่รู้จะเน้นยังไงแล้วครับ ฮ่า ๆๆ) เพราะการเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อมาตอบโจทย์ในแผน มันก็จะเป็นแค่ขั้นตอนเล็ก ๆ ขั้นตอนนึงหลังจากที่แผนการเงินถูกทำออกมาแล้ว หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเรามีอะไร ขาดอะไร ต้องเพิ่มอะไร ไม่ใช่แค่การเอาอะไรไม่รู้ยัดใส่มือดื้อ ๆ โดยไม่รู้ว่าจำเป็นหรือไม่ และยิ่งถ้าเรามีเครื่องมือที่ 'เพียงพอ' แล้วตามแผนที่เหมาะสม ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่จะต้องหาซื้อผลิตภัณฑ์อะไรที่ไม่จำเป็นหรือเกินความจำเป็น ผลิตภัณฑ์การเงินมันเป็นแค่เพียงพาหนะที่จะพาคุณไปตามเส้นทางบนแผนการเงิน การเลือกซื้อเลือกใช้พาหนะก่อนศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทาง จึงเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล

หากให้เปรียบเทียบแบบคร่าว ๆ คงเหมือนกับสมมติว่าคุณมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศได้แค่เพียงครั้งเดียวในชีวิต แล้วคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคันนึงโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหน พอสุดท้ายได้วางแผนเที่ยวจริงจัง หาข้อมูลเพิ่ม แล้วกลับพบว่าโอกาสครั้งเดียวนั้นอยากจะพาตัวเองไปญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางทะเล ขับรถไปไม่ได้แน่ ๆ) การซื้อรถคันนี้ของคุณจึงไม่สามารถตอบโจทย์การไปญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น นักวางแผนหรือที่ปรึกษาการเงินที่ดี (ที่มองผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก) จึงไม่แนะนำผลิตภัณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ก่อนที่จะรู้ว่าแผนของคุณเป็นอย่างไร ขอแค่รู้แจ้งชัดเจนเสียก่อน ว่าแค่ไหนถึงจะ 'เพียงพอ' เพื่อไปสู่เป้าหมาย และวิธีการหรือหนทางใดที่จะช่วยให้ไปถึงได้

แล้วเครื่องมือจึงค่อยตามมา ว่ากันว่า ศัตรูที่แท้จริงของการวางแผนการเงิน คือ "โอกาสที่คุณจะไม่สามารถมั่งคั่งตามที่หวังไว้" ขอให้มันเป็นแค่ศัตรูตัวเดียวก็พอละครับ อย่าให้ "อคติ" ที่มีต่อการวางแผนการเงินแบบที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ เพิ่มมาเป็นศัตรูอีกตัวเลยครับ ในฐานะที่เป็นนักวางแผนและที่ปรึกษา หลายต่อหลายครั้งผมก็ต้องรับมือกับการเจอศัตรูทั้งสองตัวนี้พร้อม ๆ กัน (บางครั้งต้องรบกกับอคติเรื่องการวางแผนก่อนจะรบกับปัญหาการเงินด้วยซ้ำ) เพียงแค่เพราะความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมคือ สุดท้ายแล้ว นักวางแผนและที่ปรึกษาก็เป็นได้เพียงผู้ช่วย เป็นผู้ที่คอยแนะนำ คอยชี้ทางชี้เป้าให้ เท่านั้นแหละครับ และศัตรูที่ว่ามาเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำร้ายอะไรนักวางแผนหรือที่ปรึกษาเลยแม้แต่น้อย อย่างเดียวที่มันจะสร้างความเสียหายและทำร้ายบ่อนทำลาย คือ 'อนาคตทางการเงิน' ของทุกคนต่างหากครับ อย่าปล่อยให้ 'อคติ' มาเป็นอุปสรรค อย่าปล่อยให้ 'อคติ' มันทำร้ายตัวคุณเลยครับ เงินคุณ คุณมีสิทธิเลือกได้ ว่าจะวางแผนจัดการมันยังไงครับ ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit

113 views0 comments
bottom of page