" วัวหายล้อมคอก "
สุภาษิตไทยนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันในหลาย ๆ เรื่อง ที่หลายต่อหลายครั้ง พอเกิดปัญหาแล้วจึงค่อยหาวิธีทางป้องกันแก้ไขกัน ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องการเมือง ฯ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเงินส่วนบุคคล ซึ่งถ้าเปรียบ 'วัว' เป็นเสมือนความมั่งคั่ง เอามากินก็ได้ เลี้ยงไว้ขายก็ได้ เก็บน้ำนมมากินมาขายได้ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ออกลูกหลานต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ แล้วล่ะก็ 'คอก' ก็คงเป็นเหมือนวิธีป้องกัน อุดรูรั่วไม่ให้วัวหนีหาย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเป้าหมาย เพราะถ้าอยากมีวัวฝูงใหญ่ก็คงต้องออกแบบคอกให้ดี ให้พอเหมาะกับจำนวนที่ต้องการ ดังนั้น 'ปัญหาทางการเงิน' หรือการที่วัวหาย ก็น่าจะหมายถึงการที่ความมั่งคั่งนั้นมีเหตุให้ลดลง หมดหายไป หรือแม้กระทั่งมีไม่พอใช้ โดยไม่ได้วางแผนรองรับไว้ก่อน (ไม่ได้ล้อมคอกไว้ก่อนนั่นเอง)
ปัญหาด้านการเงินเองนั้นก็มีหลายมิติหลายมุมมอง ถ้าจะพิจารณาองค์ประกอบของปัญหาทางการเงินของคน ๆ นึง ด้วยการแบ่งออกเป็น 2 มิติใหญ่ ๆ คือ 'วัว' กับ 'คอก' ซึ่งอธิบายให้ชัดเจนขึ้นเป็น ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านการเงิน (วัวเคยหายมั๊ย? เคยเกิดปัญหาด้านการเงินแล้วหรือยัง?) กับ ความรู้ความสามารถด้านการเงิน (สร้างคอกเป็นมั๊ย? มีความพร้อมและความสามารถป้องกันหรือรับมือกับปัญหาได้หรือไม่?) แล้ว เราก็คงจะแบ่งคนออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
มีความพร้อม สามารถรับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี และยังไม่เคยเกิดปัญหาเลย
มีความพร้อม สามารถรับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่มีปัญหาอยู่หรือเคยเกิดปัญหาแล้ว
ไม่มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาเลย และยังไม่เคยเกิดปัญหาเลย
ไม่มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาเลย แต่มีปัญหาอยู่หรือเคยเกิดปัญหาแล้ว
ผมเองก็มีโอกาสได้พบเจอกับคนในกลุ่มที่ 1 กับ 2 มาไม่น้อยเช่นกัน จากประสบการณ์ที่เคยได้พูดคุยด้วยแล้วพบว่า คนในกลุ่มนี้ก็มักจะถูกแรงกระตุ้นอะไรสักอย่างให้เกิดภาวะ 'ตื่นตัว' ที่จะเข้ามาจัดการเรื่องการเงินของตัวเอง สำหรับคนกลุ่มที่ 1 ส่วนใหญ่มักเห็นถึงความสำคัญของ 'คอก' หรือมีความกังวลมากจนเกิดความกระตือรือร้น เพราะไม่อยากให้ปัญหาที่เคยเกิดกับคนอื่นมาเกิดกับตัวเอง (ถือเป็นโชคดีของคนกลุ่มนี้) ส่วนคนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 นั้นก็มักเข้ามาจัดการเรื่องเงินของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดซ้ำอีก ไม่อยากกลับไปลำบากเหมือนก่อน จึงทำให้โดยส่วนมากแล้ว คนทั้งสองกลุ่มนี้มักจะมี 'ภูมิคุ้มกันทางการเงิน' ที่ดีและเหมาะสม เหมือนเวลาที่ร่างกายเคยเจ็บป่วยมาแล้ว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มไม่ให้ป่วยซ้ำ (กลุ่มที่ 2) หรือไม่ก็หาวัคซีนมาฉีดหลอกร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันรอไปเลย (กลุ่มที่ 1) ซึ่งจากการสังเกตของผมในระหว่างบทสนทนากับคนสองกลุ่มนี้(ที่มีพื้นฐานเรื่องการเงินส่วนบุคคลดีมาก) ไม่ว่าจะในฐานะลูกค้าหรือเข้ามาคุยกันก็ตาม หน้าที่หรืองานของผมที่ต้องให้คำแนะนำ คำปรึกษา หรือวางแผนให้นั้นก็แทบจะไม่ต้องทำงานหนักอะไรมากมายเลย แค่เสริมในส่วนที่คนเหล่านั้นยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่มั่นใจเท่านั้นก็เพียงพอ
แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมมองว่า 'น่ากลัว' ที่สุด และอันตรายมาก ๆ เลย นั่นก็คือ กลุ่มที่ 3 และ 4 ครับ เพราะถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่เคยล้ม ไม่เคยเจ็บก็ตามที แต่ก็ไม่รู้เลยว่ามีโอกาสเจอปัญหาทางการเงินของตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาวในด้านไหนบ้าง รวมทั้งยังไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับปัญหาเหล่านั้นให้ครบ 'ทุกด้าน' อย่างแท้จริง
ถ้าคุณลองสำรวจตัวเองดูเล่น ๆ ลองตั้งคำถามง่าย ๆ กับตัวเองเช่น
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนหรือไม่? เดือนชนเดือนหรือเปล่า? มีเงินออมเงินลงทุนในระดับที่ดีพอมากพอแล้วหรือยัง?
ถ้าเกิดว่าอยู่ดี ๆ วันนึงไม่มีรายได้ขึ้นมา เงินเก็บที่มีเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำและชำระหนี้สินหรือไม่? เพียงพอต่อการดูแลภาระต่าง ๆ ในครอบครัวที่เราต้องรับผิดชอบหรือเปล่า?
ถ้าสมมติว่าทำงานไปจนเกษียณ และหลังจากนั้นไม่มีรายได้ทางตรงแล้ว จะหารายได้ทางอ้อมได้อย่างไร? มีเงินพอใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณอายุมั๊ย? ถ้าอยู่นานไปจะมีเงินพอใช้หรือเปล่า? มั่นใจหรือไม่ว่าจะมีคนเลี้ยงดูตอนแก่?
จะเก็บเงินสักก้อนไว้ไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของที่อยากได้ หรือซื้อบ้านซื้อรถ แล้วมันกระทบกับชีวิตในด้านอื่น ๆ หรือเปล่า? ต้องสร้างหนี้สินเพิ่มมั๊ย?
ที่ลงทุนอยู่ตอนนี้มันเสี่ยงไปมั๊ย? หรือเสี่ยงน้อยไป? เหมาะกับจริตในการลงทุนของเราหรือเปล่า?
ทุกวันนี้เราจ่ายภาษีแล้ว แต่เราสามารถลดภาระตรงนี้ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางตรงกับเราได้อย่างไรบ้าง? เพราะแม้จะไม่ได้ลำบาก แต่ก็ทำให้เรามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้
เอาแค่คำถามชุดนี้ ถ้ายังมีข้อที่ตอบไม่ได้ หรือคำตอบยังไม่เคลียร์ไม่ชัดเจน .. คุณอาจจะกำลังเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่ 3 หรือ 4 อยู่ก็เป็นได้!
และคำถามสำคัญคือ คุณจะรอให้ปัญหาเกิดกับคุณก่อนแล้วค่อยจัดการมัน หรือคุณจะคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดหรือแนวทางการแก้ไขถ้ามันเกิดขึ้นแล้วอย่างเหมาะสมเสียก่อนล่ะ ?
สำหรับคนในกลุ่มที่ 3 นั้น คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปัญหาเรื่องเงินจะไม่เกิดกับคุณ 'แน่ ๆ' (แน่ ๆ คือคงไม่ต้องถึงกับ 100% นะครับ แค่เกินโอกาส 50% ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว) ถึงแม้จะคิดว่ามีเยอะ 'พอ' ที่จะใช้ชีวิตได้แล้ว แล้วคำว่า 'พอ' นั้น มันเขียนออกมาเป็นตัวเลขเท่าไหร่กัน มันสัมพันธ์กับสิ่งที่คุณมี กับภาระที่คุณมีจริงหรือไม่ (สำหรับคนที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่ามีระดับความมั่งคั่งเยอะมากเกินพอแล้วก็ขอแสดงความยินดีจากใจจริงด้วยครับ สุขสบายไร้กังวลละ ^^) ยิ่งถ้าพบว่าตนเองเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่ 4 ที่ประสบพบเจอกับปัญหาทางการเงินอยู่จนจะจวนตัวแล้ว และไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไงนี่ยิ่งต้องรีบ 'ล้อมคอก' ด่วนเลยครับ (จากสถิติส่วนตัวของผมในฐานะที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล คนที่ให้ความสนใจและเข้ามารับบริการการวางแผนโดยส่วนใหญ่แล้วคือคนในกลุ่มที่ 4 นี่แหละครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนคือกลุ่มที่ 4 นะ มาแบบกลุ่มที่ 1& 2 ที่ผมไม่ต้องทำอะไรเพิ่มให้แล้วก็มี ฮ่า ๆ)
และสำหรับการ 'ล้อมคอก' นั้น คุณก็สามารถทำด้วยตัวเองได้นะครับ ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับตัวคุณที่มีอยู่มากมายหลายช่องทาง เพิ่มความสามารถในการจัดการปัญหาการเงินด้วยตนเอง จากนั้นวางแผนแล้วทำเลยทันที โดยที่อาจจะไม่ต้องพึ่งพานักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินเลยก็ยังได้ครับ เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นได้อย่างมากก็แค่เพียง 'ผู้ช่วย' ของคุณนั่นแหละครับ (คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้~ #เดี๋ยวๆ ) เป็นคนคอยให้คำแนะนำ ช่วยกำหนดแนวทางให้ได้ วางแผนให้ได้ ให้คำปรึกษาได้ก็จริง แต่หน้าที่ก็จบอยู่แค่ตอนวางแผน เพราะสุดท้าย คนที่ต้องลงมือทำให้แผนเป็นจริง คนที่ต้องลงแรงสร้างคอกเตรียมไว้ก่อน ก็คือคุณนั่นแหละครับ
การวางแผนการเงินนั้นมันเป็นประโยชน์กับตัวคุณ เงินของคุณ ความมั่งคั่งของคุณที่อุตส่าห์สร้างมาได้ อย่าให้มันลดหายไปเพราะขาดการดูแล ขาดการจัดการล่วงหน้า เพราะฉะนั้น ..
อย่ารอให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกเลยครับ
ไม่เช่นนั้น มันอาจจะไม่ใช่แค่วัวที่หาย เพราะ"เรือ"ก็อาจจะหายด้วยเช่นกันครับ :p
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit