120 ปี DJIA (Dow Jones Industrial Average)
จากวันแรกในพฤษภาคมปี 1896 ที่ผู้สื่อข่าวและผู้ก่อตั้ง Wall Street Journal นาม Charles Dow (คนเดียวกับที่คิดค้น Dow Theory ทฤษฎีต้นแบบของสายเก็งกำไรนั่นแหละครับ) และนักสถิติชื่อดัง Edward Jones ได้เผยแพร่การคำนวนดัชนีนี้อย่างเป็นทางการเพื่อสะท้อนภาวะตลาดในภาพรวมของหุ้นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้กับนักลงทุนทั่วไป (จริง ๆ แล้ว Charles Dow ทำดัชนีนี้มาตั้งแต่ปี 1885 ก่อนที่ Edward Jones จะมา featuring ด้วย) โดยได้มีการเปิดเผยดัชนีนี้ครั้งแรกที่ 40.94 จุด (ณ วันที่ 26/5/1896) ซึ่งในช่วงแรกนั้นมีหุ้นที่ถูกนำเข้ามาใช้ในการคำนวนแค่ 12 ตัว กระจายกันไปทุกภาคอุตสาหกรรมที่มี ยกเว้นภาคการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค (Transportations & Utilities) ก่อนจะถูกขยายเป็น 30 ตัวตั้งแต่ตุลาคมปี 1928 จนถึงปัจจุบัน
ที่มา: MarketWatch
ตัวดัชนีนี้เป็นไม่กี่ดัชนีหลักของโลกที่ใช้การคำนวนแบบถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหลักทรัพย์ หรือ Price weighted average แต่ในปัจจุบันปรับปรุงเป็น Scaled average เพื่อทำให้ผลของการแตกพาร์หรือปันผลเป็นหุ้นนั้นไม่กระทบกับดัชนี (ส่วน SET index และอีกหลายดัชนีหลักทั่วโลกนิยมใช้การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market capitalization weighted average) ซึ่งมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนหุ้นเข้ามาใช้คำนวนกว่า 51 ครั้ง ตามความจำเป็นในการปรับปรุงดัชนี ไม่มีรอบกำหนดชัดเจน (as-needed basis) ซึ่งแต่ละตัวจะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการบนเงื่อนไขว่าต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงที่ดี สามารถบ่งชี้การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน รวมไปถึงเป็นที่สนใจของบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ (ล่าสุดคือเอา Apple เข้ามาแทน AT&T เมื่อปี 2015 นี่เอง)
เป็นเวลากว่า 120 ปี แม้จะไม่ได้เป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่ยังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ (เป็นรองแค่ DJTA ที่สร้างมาสำหรับภาคการคมนาคมขนส่ง) แต่ก็เป็นดัชนีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วทั้งโลก ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ภาวะการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงครามโลกมาทั้งสองครั้ง ผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินมามากมาย จนดัชนีทะยานมาถึง 17,828.29 จุดในวันครบรอบ 120 ปีเมื่อปีที่แล้ว (ณ วันที่ 26/5/2016 รวมระยะเวลา 120 ปีดัชนีเติบโตทบต้นเฉลี่ยปีละ 5.2%) และพุ่งทะลุ 20,000 จุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง
ในโลกของตลาดทุน ตราสารทุนถือเป็นตราสารทางการเงินที่ไม่มีการกำหนดอายุไว้ชัดเจน สามารถอยู่ยืนยงคงทนได้นับสิบนับร้อยปี ยืนยาวกว่าอายุของนักลงทุนเสียอีกนะครับ และในการลงทุนระยะยาวนั้นแม้ว่ามันจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนลงไปได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาในสิ่งที่เราลงทุน ก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่าที่ควร หุ้นบางตัวเลือกไม่ดีถือสิบปีก็อาจจะไม่กำไร นักลงทุนจึงควรตระหนักอยู่เสมอว่าระยะเวลาการลงทุนของตนเองนั้นเหมาะสมกับหุ้นตัวที่ถืออยู่หรือไม่ ทางที่ดีเราควรทำความเข้าใจสินทรัพย์เพื่อการลงทุนของเราก่อนเป็นอันดับแรก ดังเช่นที่ปู่ Peter Lynch ได้กล่าวไว้ว่า
“Know what you own, and know why you own it.” "รู้ว่าคุณถือหุ้นอะไร และรู้ว่าทำไมถึงถือมัน"
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit
อ่านเพิ่มเติม:
หมายเหตุ 1) เนื้อหาในสรุปข้างต้นนี้ ไม่ใช่บทวิเคราะห์หรือข้อมูลที่ใช้ในการแนะนำการลงทุน ผู้ลงทุนที่ได้อ่านบทความนี้ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน พร้อมทั้งตัดสินใจด้วยเหตุและผลในการลงทุนหรือวางแผนการลงทุนของท่านอย่างเหมาะสม และไม่รับรองหรือการันตีความถูกต้องในการนำส่วนของข้อคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เขียนเองที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปประยุกต์ใช้ต่อไป 2) ผู้เขียนไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้เพื่อตัดสินใจลงทุนโดยตรง โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ของตัวนักลงทุนเอง ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ในผลกำไรอันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้ด้วยเช่นกัน