top of page

เสี่ยงดวงยังไงให้คุ้มค่า?

Updated: Jan 21, 2020


เสี่ยงดวงยังไงให้คุ้มค่า?

มาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์การเงินควบการเสี่ยงดวงให้เห็นกันไปเลย!

ว่ากันว่าคนไทยชอบการเสี่ยงดวง (จริง ๆ อาจจะเป็นทุกเชื้อชาติ แต่ผมว่าคนไทยน่าจะอินที่สุดละมั้ง 555+) เลยมาเขียนอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องดวงอีกหน่อยในวันแห่งโชคชะตา ณ ต้นเดือนกันยายน

สืบเนื่องจากกระทู้พันทิพที่ผมได้เปิดอ่านไปเมื่อเช้า เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า อยากจะลองเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ "ควบการเสี่ยงดวง" เข้าไปด้วยอีกประเภทนึง ซึ่งเป็นประเภทที่ยอดฮิตติดอันดับเหมือนกันจากเท่าที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับนักเสี่ยงดวงหลาย ๆ ท่าน นั่นก็คือ ... สลากกิน(ไม่)แบ่งรัฐบาลนั่นเองนะคร้าบบบ 555+ (อ้างอิงบางส่วนจากบทความเก่าของผม)

หลังจากที่ได้เอามาเปรียบเทียบและคำนวนเล็กน้อย ก็ได้ผลลัพธ์ สรุปออกมาเป็นใจความสำคัญได้ 5 ข้อดังนี้ครับ

1. "ผลตอบแทนรวมของสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. ดูน่าสนใจมากกว่าผลตอบแทนรวมของสลากออมสิน" - เนื่องจากหากลงทุนให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้รับเงินรางวัลที่แน่นอนขั้นต่ำทุกงวด (ซึ่งก็คือ 500,000 บาท เป็นตัวเลขกลม ๆ เพื่อให้เห็นภาพและเปรียบเทียบได้กับข้อมูลในกระทู้) และเท่ากันทั้ง 3 โครงการ จะทำให้ผลตอบแทนทบต้นขั้นต่ำของสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส.อยู่ที่ 1.59% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนทบต้นขั้นต่ำของสลากออมสินที่ 1.21% ส่วนการเสี่ยงดวงกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ผลตอบแทนขั้นต่ำเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากผลตอบแทนคาดหวังไม่สามารถชนะเงินต้นที่ไม่ได้คืนได้

2. "ในแง่ของการเสี่ยงดวง สลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. ดูน่าสนใจมากกว่าสลากออมสิน" - เพื่อให้ศึกษาผลของการเสี่ยงดวงได้เต็มที่ ผมจึงตั้งสมมติฐานใหม่ โดยเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้รับรางวัลทุกรางวัลในแต่ละงวด สำหรับแต่ละชุดแต่ละหมวดได้ครบถ้วน (ยกเว้นรางวัลใหญ่ที่มีแค่ไม่กี่รางวัลในทุกชุดทุกหมวด) แล้วคำนวนอัตราผลตอบแทนทบต้นออกมาใหม่ จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนทบต้นขั้นต่ำของสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.59% เป็น 1.84% ซึ่งมาจากส่วนของการเสี่ยงดวงที่ได้มากขึ้น (จากเดิม 3.60% เป็น 4.38%) ในขณะที่ผลตอบแทนทบต้นขั้นต่ำของสลากออมสินลดลงด้วยซ้ำไป จาก 1.21% เป็น 0.95% อันเป็นผลกระทบจากส่วนของการเสี่ยงดวงที่น้อยลง (จากเดิม 2.16% เป็น 1.37%) ซึ่งในกระทู้พันทิพดังกล่าว ก็มีตัวอย่างของนักเสี่ยงดวงที่มีประสบการณ์สอดคล้องกันกับข้อสรุปนี้ เช่น ในคห.ที่ 1 และ 6

3. "ถ้าดวงดีสุด ๆ หากเทียบเฉพาะเงินรางวัลจากการเสี่ยงดวงแล้ว ยังไงสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ยังให้รางวัลที่มากที่สุดอยู่ดี" - ข้อดีของการที่เป็นคนดวงดี คือมีโอกาสเสี่ยงโชคได้สูงมากขึ้น (แต่ต้องมั่นใจนะว่าดวงดีจริง ๆ) จะเห็นได้ว่าเงินรางวัลขั้นต่ำที่เทียบเป็นร้อยละของเงินต้นที่ลงทุนไป สลากกินแบ่งรัฐบาลนี่กินขาดเลย (สูงสุด 30% นับเป็นสิบเท่าของสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. และสลากออมสิน) แต่ผลตอบแทนที่มากขึ้นนี้ ก็มักจะมาจากความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นกัน นั่นก็คือ ต้องไม่ลืมว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล จะ "ไม่ได้" รับเงินต้นที่ลงทุนไปกลับคืนมานะครับ (ในขณะที่เหลืออีก 2 อัน ได้เงินต้นคืนครบ)

4. "ถึงจะดวงไม่ดี เสี่ยงโชคไม่ค่อยได้ แต่ก็สามารถรับดอกเบี้ยที่สูงที่สุดได้จากสลากออมสิน" - ดอกเบี้ยที่ได้รับตามที่กำหนดไว้ในตัวสลาก ถือเป็นผลตอบแทนที่ความเสี่ยงน้อยที่สุดแล้วในตัวสลากเหล่านี้ ไม่ต้องเสี่ยงดวงก็ได้รับ ซึ่งสลากออมสินทำได้ดีกว่าสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. อยู่นิดหน่อย (สลากออมสินที่ 1.50% ต่อ 3 ปี และสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. ที่ 1.25% ต่อ 3 ปี) ถือเป็นจุดเด่นข้อนึง(อันน้อยนิด)ของสลากออมสินเลยก็ว่าได้ ใครอยากได้แน่นอน ๆ มานิ่ง ๆ ไม่มีดวงไม่มีโชคกับเค้าสักเท่าไหร่ ก็รับสลากออมสินไว้ครอบครองแทน พร้อมเปิดรับโอกาสเสี่ยงดวงไว้บ้าง

5. "แม้ผลตอบแทนจะล่อตาล่อใจด้วยโอกาสเสี่ยงดวง และถ้าเทียบผลตอบแทนขั้นต่ำแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากเงินฝากเลย และอาจจะน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วยซ้ำไป" - หากตั้งสมมติฐานว่า อัตราผลตอบแทนรวมทบต้นขั้นต่ำ (เอาว่าได้แน่ ๆ ได้ชัวร์ ๆ ทั้งจากส่วนที่ได้จากการเสี่ยงดวงและส่วนที่ได้จากดอกเบี้ย) ที่จะได้จากทั้งสลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. และสลากออมสิน ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งอยู่ที่ 1.59% และ 1.21% ตามลำดับนั้น แทบจะไม่ได้แตกต่างอะไรจากอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่ราว ๆ 1.5-1.9% เลยด้วยซ้ำไป (หลังหักภาษีอยู่ที่ราว ๆ 1.28-1.62% : อ้างอิงตัวเลขจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 1 กย. 2559 http://goo.gl/fHaJ5a) และหากเราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนที่ดีและเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการลงทุนที่สามารถกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาด (Tactical Allocation) ได้ดีพอแล้ว เราอาจจะทำผลตอบแทนคาดการณ์ได้มากขึ้นกว่านี้อีกก็เป็นได้ จากการลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารทางการเงินประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯ และอาจมีสภาพคล่องที่ดีกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนเหล่านี้ที่ผมคำนวนไว้ คือผลตอบแทน 'ขั้นต่ำ' ที่ 'คาด' ว่าจะได้จากการเสี่ยงดวงรวมดอกเบี้ยที่ได้รับ บนข้อจำกัดของเงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ ตามที่กำหนดและตั้งสมมติฐานไว้ ณ วันที่ 1 กย. 2559 เท่านั้น ไม่ได้เป็นการการันตีถึงผลตอบแทนจริงที่ได้จากการลงทุนหรือการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ของตัวท่านเอง เพราะผลตอบแทนจริงนั้นจะแตกต่างกันออกไปทั้งจากจำนวนเงินที่ลงทุน ชุดเลขหน่วยที่ซื้อ และดวงที่ใช้ในการเสี่ยงโชคของท่านเอง

ทั้งนี้ ผมเองก็ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนนำเงินไปลงทุน ไปออม ไปเก็บไว้ในรูปแบบของสลากเหล่านี้ซะทั้งหมด ทางที่ดี เราควรจะแบ่งสรรปันส่วนทั้งหมดให้เหมาะสมกับแผนการเงินของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้เราเสียโอกาสในการลงทุนดี ๆ ไปนะครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit

หมายเหตุประกอบการคำนวณ:

11 views0 comments
bottom of page