กราบสวัสดีผู้อ่านที่เคารพรักและน่ารักทุก ๆ ท่าน
อันดับแรกผมขออนุญาตแนะนำตัวกันก่อนนะครับ ผมชื่อกษิดิศ สุวรรณอำไพ (เรียกสั้น ๆ ว่าไอซ์น่าจะกันเองกว่าเนอะ) ผมใช้นามปากกาว่า Wealthfit ซึ่งก็เป็นชื่อเดียวกันกับเพจน้องใหม่ที่ผมตั้งใจจะทำขึ้นมาเพื่อแบ่งปันความรู้ด้านการบริการจัดการเงินส่วนบุคคล รวมไปถึงด้านการวางแผนการเงินด้วย โดยบทความนี้ถือเป็นบทความแรกที่ผมเขียนขึ้นบนเว็บไซต์ aommoney.com ในฐานะนักเขียนรับเชิญ ยังไงก็ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยนะครับ ^^
อย่างที่เกริ่นกันไว้ข้างต้นว่าบทความของผมโดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน หลาย ๆ ท่านคงอาจจะเคยได้ยินหรือได้รู้จักกับอาชีพ นักวางแผนการเงิน หรือ ที่ปรึกษาการเงิน กันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าหากยังสงสัยว่า จริง ๆ แล้วอาชีพเหล่านี้ทำอะไร? ให้บริการในด้านการเงินในรูปแบบไหนบ้าง? เราจะใช้บริการนักวางแผนการเงินเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง? เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมเลยจะขออนุญาตเปรียบเทียบระหว่างนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงิน กับอาชีพ "เทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัว" หรือ Personal Trainer (PT) ที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นกระแสกันอยู่ในขณะนี้นั่นเองครับ
เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงกำลังใช้หรืออาจจะเคยได้ใช้บริการฟิตเนสใกล้บ้านเพื่อออกกำลังกาย ฟิตหุ่นให้เฟิร์ม เสริมความแข็งแกร่งให้ร่างกายและสุขภาพกันมาบ้างแล้ว ก็น่าจะคุ้นเคยกับเหล่าเทรนเนอร์ออกกำลังกายที่อยู่ในฟิตเนสนี้เป็นอย่างดี ซึ่งหน้าที่ทั่วไปของเทรนเนอร์ก็คือการที่คอยให้คำแนะนำในการออกกำลังกายแก่สมาชิกฟิตเนสทุกท่าน คอยระวังอันตรายที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกทุกท่านมีแรงกระตุ้นในการออกกำลังกาย เช่นเดียวกันกับนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงิน ที่จะคอยให้คำแนะนำในการบริหารจัดการด้านการเงินส่วนบุคคล คอยดูแลแผนการเงินของลูกค้า และเป็นที่ปรึกษาสำหรับการบริหารจัดการและจัดสรรเงินเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านการเงินในแต่ละด้าน
ซึ่งเทรนเนอร์ที่อยู่ในฟิตเนสนั้น ก็ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นกันได้ง่าย ๆ ต้องผ่านการเรียนรู้ ผ่านการทดสอบ มีใบรับรองหรือ Certificate ได้รับการฝึกฝนในประสบการณ์ด้านการออกกำลังกายมาแล้วเป็นอย่างดี เฉกเช่นนักวางแผนการเงิน ซึ่งการที่จะเรียกตัวเองได้ว่าเป็น "นักวางแผนการเงิน" หรือ "ที่ปรึกษาการเงิน" ได้นั้น นอกจากความรู้ความสามารถส่วนบุคคลในด้านการเงินแล้ว ก็จะต้องเข้ารับการอบรม ผ่านการศึกษาในวิชาแขนงการเงินเพิ่มเติมอีกมาไม่ใช่น้อย (อ่านบทความ “ตีแผ่อาชีพ”! นักวางแผนทางการเงินคือใคร? ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2) และยังต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตหรือคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้รับการรับรองในระดับสากลและในระดับประเทศแล้ว เช่น ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner) หรือใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant) ซึ่งต้องมีตามกฎหมายจึงจะสามารถให้บริการด้านการเงินและการลงทุนแก่ลูกค้าได้ ส่วนคุณวุฒิทางการเงิน ตัวอย่างเช่น คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP®, คุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ และ FChFP ฯ ตามมาตรฐานของวิชาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการ
(ภาพจากเว็บไซต์ cnbc.com และ northiowamercy.com)
โดยขอบเขตการให้บริการนั้นก็จะขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินแต่ละท่าน เช่น การสร้างความมั่งคั่งจากการบริหารจัดการรายรับรายจ่ายและการวางแผนภาษีเงินได้ การปกป้องความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการประกัน การสะสมความมั่งคั่งเพื่อเตรียมการสำหรับอนาคตด้วยการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การเพิ่มพูนความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการลงทุน รวมไปถึงการส่งต่อความมั่งคั่งด้วยการวางแผนภาษีและมรดก ผู้ให้บริการบางท่านอาจจะมีความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน (ในส่วนนี้ผมอยากให้เน้นเฉพาะเจาะจงไปเลยจะดีกว่าครับ เช่น ที่ปรึกษาด้านการประกัน ที่ปรึกษาด้านการลงทุน เป็นต้น) ส่วนคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงินจะต้องมีความเชี่ยวชาญในทุกด้านอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นการวางแผนการเงินในองค์รวม เลยครับ โดยรูปแบบและขั้นตอนในการให้บริการก็ยังมีความคล้ายคลึงกันกับเทรนเนอร์ด้วยเหมือนกัน ซึ่งนักวางแผนการเงินจะมีกระบวนการขั้นตอนหลัก ๆ การให้บริการดังนี้ครับ
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้วางแผนกับลูกค้า นักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินก็จะเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักลูกค้าที่ต้องการรับบริการให้มีความรู้จักกันมากขึ้น และเปิดใจลูกค้าให้เห็นถึงความสำคัญต่อการวางแผนการเงินที่ดีและเหมาะสม พูดคุยถึงขอบเขตการให้บริการ แบบเดียวกันกับที่เราเห็นเทรนเนอร์ในฟิตเนสคอยเข้าไปทักทายลูกค้าใหม่ พูดคุยกับลูกค้าเพื่อแนะนำการออกกำลังกายนั่นแหละครับ
การรวบรวมข้อมูลของลูกค้าและการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน ในขั้นตอนนี้ที่ฟิตเนส เทรนเนอร์จะพาเราไปวัดสมรรถภาพร่างกาย วัดข้อมูลทางกายภาพ และสอบถามถึงเป้าหมายการออกกำลังกาย นักวางแผนการเงินเองก็จะทำการรวบรวมเอาข้อมูลด้านการเงินของลูกค้า ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ (ไลฟ์สไตล์/ประวัติส่วนตัว) และปริมาณ (ข้อมูลที่เป็นตัวเลข) รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้น/ระยะกลาง/ระยะยาวของลูกค้าที่อยากให้นักวางแผนช่วยวางแผน เพื่อเป็นสมมติฐานตั้งต้นในการวางแผนและกำหนดกรอบการให้บริการ
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถานะทางการเงินของลูกค้า พอได้รับข้อมูลสุขภาพและกายภาพของลูกค้ามาแล้ว เทรนเนอร์ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ผลด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น ดัชนีมวลกาย ปริมาณไขมันในร่างกาย ซึ่งก็จะทำให้ทราบพื้นฐานสุขภาพของลูกค้าได้ นักวางแผนการเงินเองก็จะนำเอาข้อมูลด้านการเงินของลูกค้าไปวิเคราะห์สุขภาพการเงินของลูกค้า แล้วจัดทำออกมาในรูปแบบงบการเงินส่วนบุคคล เช่น งบดุลส่วนบุคคล งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล และงบประมาณส่วนบุคคล
การจัดทำและนำเสนอแผนการทางการเงิน เมื่อทราบถึงสถานะทางการเงินของลูกค้า รวมถึงเป้าหมายที่ได้รวบรวมมาแล้ว นักวางแผนการเงินก็จะเริ่มต้นวางแผนเพื่อนำลูกค้าไปสู่เป้าหมายให้ได้ ด้วยการประเมินทางเลือกต่าง ๆ พัฒนาแผนของทางเลือกที่เหมาะสมโดยใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับเทรนเนอร์ที่ต้องออกแบบคอร์สการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับกายภาพและสุขภาพของลูกค้าผ่านอุปกรณ์ออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ
การนำแผนไปปฏิบัติ ในขั้นตอนนี้นักวางแผนการเงินและลูกค้าก็จะต้องร่วมมือร่วมใจกันนำแผนที่วางไว้ดีและเหมาะสมแล้วไปปฎิบัติจริงอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดผล เพราะหากวางแผนไว้แต่ไม่ยอมทำตามแผน ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เช่นเดียวกับการที่เราต้องออกกำลังกายตามคอร์สที่ถูกจัดไว้ในทุก ๆ วันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการออกกำลังกาย
การติดตามและปรับปรุงแผนทางการเงิน หลังจากที่ได้ทำตามแผนไปแล้ว แน่นอนว่าเราไม่สามารถการันตีได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปตามแผนเสมอไป ดังนั้นนักวางแผนการเงินเองก็จะต้องคอยช่วยตรวจสอบสถานะทางการเงินของลูกค้าอยู่เป็นระยะ ว่าดำเนินไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในแผนให้เหมาะสมกับความเป็นจริง ก็ต้องคอยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าโดยที่ยังโฟกัสไปที่เป้าหมายเหมือนเดิม เช่นเดียวกับที่เทรนเนอร์คอยเช็คผลการออกกำลังกายและความเปลี่ยนแปลงในร่างกายและสุขภาพของเราอยู่เสมอ
โดยทั่วไปแล้วเทรนเนอร์ออกกำลังกายในฟิตเนส(หรือฟรีแลนซ์)ก็จะรับค่าจ้างนับเป็นรายครั้งหรือตามแพ็คเกจที่มี รวมถึงรายได้จากการขายอุปกรณ์ออกกำลังกายหรืออาหารเสริมโภชนาการ นักวางแผนการเงินเองก็เช่นกัน ที่จะมีค่าบริการในการในการจัดทำข้อมูลงบการเงินส่วนบุคคลและวางแผนการเงินในแต่ละแผน ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทหรือแล้วแต่นักวางแผนแต่ละท่านเลยครับ รวมถึงรายได้จากการแนะนำสินค้าทางการเงิน เพื่อนำมาปรับใช้ตามแผนที่วางไว้ให้ลูกค้า เช่น ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย กองทุนรวม ตราสารหนี้ ตราสารทุน ฯลฯ แล้วแต่ว่านักวางแผนการเงินท่านนั้น ๆ จะไปขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ตัวไหนบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีไว้ในมือแทบจะครบทุกผลิตภัณฑ์ ไว้คอยให้บริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเครื่องมือทางการเงินในแต่ละแผนการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ นักวางแผนการเงินที่ดีต้องยึดถือเอาผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าเป็นสำคัญด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพ ไม่ใช่หวังแต่จะขายสินค้าทางการเงินเหล่านี้เพื่อค่าคอมมิชชั่นหรือรายได้จากการแนะนำลูกค้า ทั้งนี้ เทรนเนอร์เองก็มีทั้งที่สังกัดกับฟิตเนสหรือเป็นฟรีแลนซ์ เช่นเดียวกับนักวางแผนการเงินที่ทั้งสังกัดอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆเช่น บริษัทประกันภัย ธนาคาร ฯ และนักวางแผนการเงินอิสระ
หากลูกค้าพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านการเงินของตัวเองขึ้นมา เข้าใจหลักการและพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนการเงินได้ด้วยตนเอง ก็สามารถที่จะเลือกออกแบบและวางแผนได้ด้วยตนเองเช่นกัน หรือเลือกที่จะขอคำปรึกษากับนักวางแผนการเงินเฉพาะทาง เพื่อขอรับบริการในบางแผนที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองหรือไม่มีเวลาจัดการ เหมือนกับการที่เราเรียนรู้วิธีการออกกำลังกายด้วยตนเอง จัดคอร์สจัดตารางการออกกำลังกายเองได้แล้ว ก็สามารถที่จะเลือกออกกำลังกายเองได้ในบางประเภท แต่ประเภทที่ต้องใช้คู่ซ้อมหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มากขึ้นเช่น มวยไทย โยคะ ฯลฯ ก็อาจจะต้องว่าจ้างเทรนเนอร์ที่เฉพาะทางนั้น ๆ ต่อไป
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าทุกท่านที่อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้ คงจะเห็นภาพของลักษณะการให้บริการของนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะจริงๆแล้วต้องถือว่าวิชาชีพการวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินนี้ยังใหม่มากในประเทศไทย และเป็นศาสตร์ที่ยังมีคนรู้จักและให้ความสำคัญอยู่น้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วการวางแผนการเงินในมุมมองผมถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้อาชีพหลัก ๆ เช่นแพทย์หรือวิศวกรเลยครับ เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งทางการเงินที่มั่นคงและยั่งยืนของลูกค้าตามความเหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ฐานะทางการเงินของคนไทยทุกคนเข้มแข็งยิ่งขึ้นจากพื้นฐานจริง ๆ ด้วยเช่นกันครับ
ผมเชื่อว่าพื้นฐานการเงินที่ดีจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้ รักษาสุขภาพร่างกายของเราแล้ว ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพการเงินด้วยเช่นกันนะครับ ^^
ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ AomMoney
หมายเหตุ 1) เนื้อหาในสรุปข้างต้นนี้ ไม่ใช่บทวิเคราะห์หรือข้อมูลที่ใช้ในการแนะนำการลงทุน ผู้ลงทุนที่ได้อ่านบทความนี้ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน พร้อมทั้งตัดสินใจด้วยเหตุและผลในการลงทุนหรือวางแผนการลงทุนของท่านอย่างเหมาะสม และไม่รับรองหรือการันตีความถูกต้องในการนำส่วนของข้อคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เขียนเองที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปประยุกต์ใช้ต่อไป 2) ผู้เขียนไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้เพื่อตัดสินใจลงทุนโดยตรง โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ของตัวนักลงทุนเอง ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ในผลกำไรอันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้ด้วยเช่นกัน