"High risk, High return."
เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินวลีที่ว่านี้กันมาบ้าง และคิดว่าหลายท่านก็เคยมีประสบการณ์กับผลลัพธ์ของการนำประโยคนี้ไปประยุกต์ใช้แล้วเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน การลงทุน หรือเรื่องอื่น ๆ
หลายต่อหลายครั้งในโลกแห่งการลงทุน ทั้งจากประสบการณ์ของผมเองและของคนที่รู้จักกัน การที่การลงทุนของเรามี High risk หรือความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี High return หรือผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการลงทุนนั้น ๆ เสมอไปนะครับ (หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นตัวเงิน โดยไม่นับบทเรียนจากความผิดพลาดหรือประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง)
ดังนั้น ถ้าผมจะเรียบเรียงวลีนั้นใหม่ให้เป็นประโยค ผมคงจะขอกล่าวว่า
"To get a higher return, you need to take more risk. But taking more risk does not guarantee a higher return."
หรือแปลเป็นไทยว่า
"หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น คุณต้องรับความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่การที่เสี่ยงมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าผลตอบแทนจะมากขึ้นตาม"
ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจต่อ "ความเสี่ยงในการลงทุน" ได้ดีกว่าวลีสั้น ๆ ดังกล่าวครับ เพราะว่าการที่เราเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนนั้น ไม่ได้การันตีถึงผลตอบแทนที่สูงขึ้นแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเราต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราต้องยินดีที่จะรับความเสี่ยงได้มากขึ้นครับ ดังนั้น การที่เราจะเลือกลงทุนอะไรสักอย่าง นอกเหนือจากผลตอบแทนคาดหวังที่ต้องการแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาอยู่เสมอ (ซึ่งตัวผมเองนั้นก็แนะนำให้ทุกท่านพิจารณาด้วยเสมอมาโดยตลอดเมื่อพูดถึงการลงทุน) คือระดับความเสี่ยงที่ต้องพบและเจอกับการลงทุนนั้น ๆ
โดยทั่วไปแล้ว ความเสี่ยงที่ว่านี้ ในโลกของการเงินการลงทุนมักจะเขียนออกมาให้เห็นภาพ ในรูปตัวเลขของระดับความเชื่อมั่นในโอกาสที่เราจะเจอกับความผันผวนของผลตอบแทนในการลงทุน เมื่อพิจารณาด้วยข้อมูลที่มีอยู่ไม่ว่าจากสถิติที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตหรือการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเลขสักชุดนึงมาประกอบนะครับ โดยจะขอยกตัวอย่างจากข้อมูลเชิงสถิติที่รวบรวมได้จากดัชนี SET Total Return Index หรือ SET TRI ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย้อนหลังไป 10 ปี นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 จนถึง 30 กันยายน 2559 ได้ความว่า
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีรวมเงินปันผลและสิทธิต่าง ๆ ที่คำนวนได้จากดัชนี SET TRI และ ความเสี่ยงหรือความผันผวน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของผลตอบแทนเฉลี่ยรายวันที่คำนวนได้จากดัชนี SET TRI (ข้อมูลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 จนถึง 30 กันยายน 2559)
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีรวมเงินปันผลและสิทธิต่าง ๆ ที่คำนวนได้จากดัชนี SET TRI = 14.8% ต่อปี
ความเสี่ยงหรือความผันผวน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของผลตอบแทนเฉลี่ยรายวันที่คำนวนได้จากดัชนี SET TRI = 20.8% ต่อปี
นั่นหมายความว่า ด้วยความเชื่อมั่นที่ราว 68% นั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่คาดหวังได้จากการลงทุน หากเราเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET TRI เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ -6.0% ถึง +35.6% ต่อปี (ภายใต้เงื่อนไขและสมมติฐานทางสถิติและความน่าจะเป็นต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งผมจะขอไม่อธิบาย ณ ที่นี้นะครับ แค่ต้องการยกตัวเลขมาให้เห็นภาพชัด ๆ เท่านั้นเอง)
ว่ากันง่าย ๆ คือ ..
"มีโอกาสหรือความเชื่อมั่นมากกว่าครึ่ง ที่เราจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในช่วงตั้งแต่ -6.0% ต่อปี ถึง +35.6% ต่อปี"
.. หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง ..
"เรามีโอกาสพอ ๆ กัน ระหว่างที่จะมีผลขาดทุนเฉลี่ยมากกว่า -6.0% ต่อปี กับที่จะมีผลกำไรเฉลี่ยมากกว่า +35.6% ต่อปี"
และหากขยับความเชื่อมั่นของเราขึ้นอีก สมมติว่าไปสู่ที่ระดับ 95% (หรือมีโอกาสแค่ราว 5% ที่เราจะไม่ได้ผลตอบแทนตามนี้เลย) อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดหวังได้จากการลงทุน หากเราเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET TRI เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ -26.8% ถึง +56.4% ต่อปี หรืออาจกล่าวได้ว่า..
"เรามีโอกาสพอ ๆ กัน ระหว่างที่จะมีผลขาดทุนเฉลี่ยมากกว่า -26.8% ต่อปี กับที่จะมีผลกำไรเฉลี่ยมากกว่า +56.4% ต่อปี"
จะเห็นได้ว่า หากเราต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยเพิ่มระดับความเชื่อมั่นที่จะทำให้เราได้รับ "ผลตอบแทน" เฉลี่ยที่มากขึ้นจาก +35.6% เป็น +56.4% ต่อปีแล้ว จะต้องแลกมาด้วยโอกาสที่จะต้องเผชิญกับ "ความเสี่ยง" ในการขาดทุนที่มากขึ้นด้วย จาก -6.0% ไปถึง -26.8% ต่อปี บนความน่าจะเป็นที่เท่ากัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมได้เขียนไว้ว่า หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็ต้องสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยข้อมูลเหล่านี้ที่เป็นข้อมูลย้อนหลังจากอดีต (หรือแม้กระทั่งข้อมูลคาดการณ์สำหรับอนาคตก็ตาม) ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเชิงสถิติทั้งสิ้น ไม่ได้การันตีว่าตัวเลขดังกล่าวนี้จะถูกต้อง 100% สำหรับการเอาไปใช้ในอนาคต ดังนั้น การที่เราเข้าไปรับเสี่ยงมากขึ้น จึงไม่ได้การันตีว่าผลตอบแทนจะมากขึ้นตามนั่นเองครับ
หวังว่าทุกท่านที่ได้อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ คงจะเห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่าง "ความเสี่ยง" กับ "ผลตอบแทน" ขึ้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามันเป็นจริงอยู่เสมอ นั่นคือวลีเด็ดจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งในสายการเงินที่ผมเคารพ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า
"High understanding = High Return"
ความเข้าใจในการลงทุนของเรานั้น จะสร้างผลตอบแทนที่ดีเสมอครับ ^^ ด้วยความปรารถนาดีจาก #wealthfit ขอบคุณข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ AomMoney
หมายเหตุ 1) เนื้อหาในสรุปข้างต้นนี้ ไม่ใช่บทวิเคราะห์หรือข้อมูลที่ใช้ในการแนะนำการลงทุน ผู้ลงทุนที่ได้อ่านบทความนี้ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน พร้อมทั้งตัดสินใจด้วยเหตุและผลในการลงทุนหรือวางแผนการลงทุนของท่านอย่างเหมาะสม และไม่รับรองหรือการันตีความถูกต้องในการนำส่วนของข้อคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เขียนเองที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปประยุกต์ใช้ต่อไป 2) ผู้เขียนไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้เพื่อตัดสินใจลงทุนโดยตรง โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ของตัวนักลงทุนเอง ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ในผลกำไรอันเกิดขึ้นจากใช้เนื้อหาและข้อมูลในบทความนี้ด้วยเช่นกัน